หมวดหมู่: หุ้นเด่นวันนี้
6
ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้านี้ปรับฐานตามภูมิภาค หลังหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐบางส่วนถูกชัตดาวน์,กองทุนรวมเริ่มขายมากขึ้น
        นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสที่จะปรับฐานตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ส่วนใหญ่จะติดลบกัน อันเป็นผลจากการที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐบางส่วนได้ถูกปิดการดำเนินงาน หรือชัตดาวน์ หลังจากวุฒิสภาไม่ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว แต่เชื่อว่าจะสามารถตกลงกันได้ในเวลาต่อมา ด้านราคาน้ำมันก็ปรับตัวลงเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ บ้านเราทางกองทุนรวมก็ได้เริ่มขายมากขึ้น ซึ่งถ้าขายไปเรื่อย ๆ ก็จะกดดัชนีฯได้ โดยเชื่อว่าสัปดาห์นี้กองทุนรวมก็น่าจะขายต่อ ดังนั้น อาจทำให้ตลาดฯผันผวนได้ รวมทั้งผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ที่ออกมาส่วนใหญ่จะไม่ดี ทำให้มีแรงขายทำกำไรออกมา และสัปดาห์นี้ก็ยังต้องติดตามการประกาศงบฯของ SCC และ PTTEP ต่อไป ซึ่งถ้าออกมาดีกว่าคาดก็จะช่วยดึง Sentiment บวกให้กลับมาได้
อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์นี้ให้ติดตามการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งก็คาดว่าไม่น่าจะมีอะไรมาก จะมีก็อาจจะเป็นการส่งสัญญาณการยุติการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนก.ย.นี้
พร้อมให้แนวรับ 1,810-1,800 จุด ส่วนแนวต้าน 1,830-1,837 จุด
ประเด็นการพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (19 ม.ค.61) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,071.72 จุด เพิ่มขึ้น 53.91 จุด (+0.21%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,810.30 จุด เพิ่มขึ้น 12.27 จุด (+0.44%) ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,336.38 จุด เพิ่มขึ้น 40.33 จุด (+0.55%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 10.22 จุด, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 10.87 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง เพิ่มขึ้น 22.07 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน เพิ่มขึ้น 18.94 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 3.36 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 1.60 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย เพิ่มขึ้น 6.38 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (19 ม.ค.61) 1,821.34 จุด เพิ่มขึ้น 2.02 จุด (+0.11%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,962.98 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 ม.ค.61
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.พ. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (19 ม.ค.61) ปิดที่ระดับ 63.37 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 58 เซนต์ หรือ 0.9%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (19 ม.ค.61) ที่ 6.08 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.89 แนวโน้มแกว่งในกรอบ 31.85-31.95 ตลาดรอดูตัวเลขส่งออกของไทยวันนี้
- "แบงก์ชาติ" ยอมรับเงินเฟ้อปีนี้จ่อสูงกว่าคาด หลังราคา น้ำมันดิบโลกพุ่งต่อเนื่อง ขณะนักวิเคราะห์ ชี้น้ำมันโลกปรับขึ้นแล้ว 10% หนุนเงินเฟ้อขยับตาม จับตาธนาคารกลางทั่วโลกจ่อขึ้น ดอกเบี้ยดูแลเงินเฟ้อ
- กมธ.พิจารณากม.เลือกตั้ง ส.ส. อ้างมีเหตุผลที่ไม่สามารถพูดได้ ที่ต้องยื้อเลือกตั้งออกไปอีก 90 วัน ยัน สนช.ไม่ได้มีผลประโยชน์ร่วม "วัชระ" จวก กมธ.สมประโยชน์ ทั้งได้เงินเดือนต่ออีก 3 เดือนแถมจะได้เป็น ส.ว.เป็นการตอบแทน พท.ชี้ "บิ๊กตู่" สร้าง 4 วิกฤตเสื่อม "โรคเลื่อน-ไม่โปร่งใส-ใช้หลักกู-อุ้มชูทุนใหญ่" ระวังเป็น "โมฆบุรุษ" หากเลื่อนวันเลือกตั้ง ถือว่าไม่รักษาคำพูด ด้านปชป.เชื่อผู้มีอำนาจส่งซิกยื้อเลือกตั้ง
- รมว.คลัง ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องให้อ่อนค่าลง เพื่อจะไม่ได้กระทบกับการส่งออกและการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศไทย
- ขณะนี้ได้รับรายงานว่าสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.) ได้มีการทำหนังสือส่งถึงสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้มีการชะลอการพิจารณาจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ : TFF)
- คณะปฏิรูปพลังงาน โชว์แผนแม่บท เตรียมส่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ-ครม.พิจารณา มั่นใจได้ใช้ เม.ย.แน่นอน

*หุ้นเด่นวันนี้

- TFD-W5 (ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญบมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม(TFD)) เทรดวันนี้วันแรก มีจำนวน 241,117,818 หน่วย อัตราการใช้สิทธิ 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ : 1 หุ้นสามัญใหม่ ราคาการใช้สิทธิ 3.50 บาทต่อหุ้น อายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 2 ปี 6 เดือน นับจากวันที่ออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิ (15 มกราคม 2561) ราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ 0.00 บาทต่อหน่วย กำหนดวันใช้สิทธิครั้งแรก 30 มี.ค. 2561 ส่วนวันใช้สิทธิครั้งสุดท้าย 14 ก.ค. 2563
- IVL (เมย์แบงก์ กิมเอ็ง) "เก็งกำไร"เป้า 70 บาท มองบวกจากประเด็น Canopus International ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ IVL ได้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพ มีหลักประกัน ไม่มีดอกเบี้ยมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ อายุ 1 ปี รวม 95.8 ล้านหุ้น โดยมีราคาแปลงสภาพที่ 66.68 บาท สูงกว่ากระดาน 15% สะท้อนความมั่นใจของนักลงทุนต่อ IVL และหากมีการแปลงสภาพคาดเงินส่วนหนึ่งจะถูกนำมาใช้เพื่อแปลง IVL-W2 ในช่วงเมษายน–สิงหาคมนี้ พร้อมคาดกำไรดำเนินงาน Q4/60 ที่ 4,141 ล้านบาท (+88%YoY , -3%QoQ) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการหยุดซ่อมบำรุงโรง PX ที่สหรัฐ , PTA ที่แคนาดา อย่างไรก็ตามคาดอาจมีการรับรู้การกลับรายการภาษี Deffered Tax Liability ประมาณ 80 ล้านเหรียญ ส่งผลให้คาดกำไรสุทธิเติบโตสูงกว่า 148 %YoY, +109%QoQ ที่ 7,352 ล้านบาท
- KBANK (แอพเพิล เวลธ์) "ทยอยซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว"เป้า 240 บาท คาดกำไรสุทธิปี 61 ที่ 3.7 หมื่นลบ. +8%YoY เติบโตจากฐานกำไรที่ต่ำในปี 60 และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวจะส่งผลให้ปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นแม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจะโตได้น้อยลง จากอานิสงส์การสำรอง provision ต่อเนื่องในปี 60 คาดส่งผลให้ภาระในการสำรอง provision สำหรับปี 61 ต่ำลง
- HTECH (ไอร่า)"ซื้อ"เป้า 10.50 บาท มองปี 61 ดีขึ้น จากคำสั่งของลูกค้ากลุ่มฮาร์ดดิสก์ ทำให้ผลประกอบการมีโน้มแนวจะเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่งวด Q1/61 พร้อมคงประมาณการกำไรสุทธิงวด Q4/60 ที่ 34.8 ล้านบาท มองรายได้ยังคงแข็งแกร่ง แม้จะต้องมีการรับรู้ค่าใช้จ่ายจากโรงงานใหม่ แต่มีโอกาสที่งบจะดีกว่าคาดจากการขายเครื่องจักร
- CMO (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 3 บาท ในฐานะหุ้น Turnaround ที่ราคายังถูก โดยนอกจากจะเคลื่อนไหวใกล้มูลค่าทางบัญชีแล้ว PE2561 ที่ 12 เท่า ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังที่ 17 เท่า และผลตอบแทนจากปันผลสูงถึง 7% ต่อปี โดยระยะสั้น มีปัจจัยหนุนจากผลประกอบการ Q4/60 ที่คาดพลิกมามีกำไรสุทธิ 37 ลบ. จากขาดทุนสุทธิ 23 ลบ. ใน Q3/60 ส่วนระยะกลาง คาดว่ากำไรสุทธิปี 2561 จะสูงสุดในรอบ 6 ปี ที่ 44 ลบ. +26% Y-Y ขณะที่ การขยายตลาดไปยังงานอีเว้นท์ที่มีความเฉพาะตัว ทำให้ยังมั่นใจว่า CMO จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในสองอันดับแรกของอุตสาหกรรมได้ต่อเนื่อง
 
ตลาดหุ้นเอเชียผันผวนเช้านี้ หลังรัฐบาลสหรัฐเข้าสู่ภาวะชัตดาวน์
         ตลาดหุ้นเอเชียเคลื่อนไหวทั้งในแดนบวกและลบในช่วงเช้าวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในสหรัฐ หลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐไม่ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ซึ่งส่งผลให้หน่วยงานบางส่วนของรัฐบาลต้องปิดการดำเนินงาน หรือชัตดาวน์ ตั้งแต่ช่วงหลังเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาสหรัฐ
ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดวันนี้ที่ 23,797.84 จุด ลดลง 10.22 จุด, -0.04% ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนเปิดวันนี้ที่ 3,476.99 จุด ลดลง 10.87 จุด, -0.31% ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดวันนี้ที่ 32,276.96 จุด เพิ่มขึ้น 22.07 จุด, +0.07% ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวันเปิดวันนี้ที่ 11,169.79 จุด เพิ่มขึ้น 18.94 จุด, +0.17% ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้เปิดวันนี้ที่ 2,516.90 จุด ลดลง 3.36 จุด, -0.13% ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์เปิดวันนี้ที่ 3,551.96 จุด เพิ่มขึ้น 1.60 จุด, +0.05% ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซียเปิดวันนี้ที่ 1,835.21 จุด เพิ่มขึ้น 6.38 จุด, +0.35%
ทั้งนี้ หน่วยงานบางส่วนของรัฐบาลสหรัฐได้เข้าสู่ภาวะชัตดาวน์ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเที่ยงวันเสาร์ที่ผ่านมาตามเวลาไทย หลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงได้เพียงพอที่จะผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว เพื่อช่วยให้รัฐบาลกลางสหรัฐมีงบประมาณในการดำเนินงานต่อไปเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี การเจรจาระหว่างสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังทำงานกันอย่างหนัก เพื่อเร่งผลักดันให้หน่วยงานของรัฐบาลสามารถกลับมาดำเนินงานได้อีกครั้ง

ภาวะตลาดหุ้นลอนดอน: ฟุตซี่ปิดบวก 29.83 จุด จากปอนด์อ่อน, หุ้นอีซี่เจ็ตพุ่ง
          ตลาดหุ้นลอนดอนดีดตัวขึ้นปิดแดนบวกเป็นวันแรกในรอบห้าวันทำการเมื่อคืนนี้ (19 ม.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเผยยอดค้าปลีกเดือนธ.ค.ร่วงลงเกินคาด ขณะที่หุ้นอีซี่เจ็ต สายการบินต้นทุนต่ำ พุ่งทะยานขึ้นมากที่สุดในรอบสองเดือน หลังได้รับการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุน
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,730.79 จุด ปรับตัวขึ้น 29.83 จุด หรือ 0.39% อย่างไรก็ตาม ทั้งสัปดาห์ ดัชนีปรับตัวลง 0.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบเจ็ดสัปดาห์
สำหรับภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนในวันศุกร์ ฟุตซี่ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากที่ปิดแดนลบมาสี่วันติดต่อกัน โดยบรรยากาศการซื้อขายได้รับอานิสงส์จากการที่สกุลเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงจะเป็นผลดีต่อรายได้และผลกำไรในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นอังกฤษ โดย ณ เวลาหนึ่ง เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3858 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3895 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี
ทั้งนี้ เงินปอนด์ถูกกดดันจากการเปิดเผยยอดค้าปลีกที่ซบเซาของสหราชอาณาจักร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักรดิ่งลงมากกว่าคาดในเดือนธ.ค. โดยร่วงลง 1.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 หลังจากพุ่งขึ้น 1.6% ในเดือนพ.ย.
ONS ระบุว่า ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าในเดือนพ.ย.เนื่องจากได้รับข้อเสนอที่น่าจูงใจจากการลดราคาสินค้าในวัน Black Friday ซึ่งตรงกับวันที่ 24 พ.ย. แทนที่จะรอซื้อสินค้าในเดือนธ.ค.
เมื่อพิจารณาทั้งปี 2560 ยอดค้าปลีกมีการขยายตัว 1.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556
ONS ยังคาดการณ์ด้วยว่า ยอดค้าปลีกยังคงมีแนวโน้มที่ซบเซาในระยะยาว โดยถูกกดดันจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น
ขณะเดียวกัน ข้อมูลค้าปลีกเดือนธ.ค.ที่ออกมาย่ำแย่ได้ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่มค้าปลีก ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมันที่อ่อนแรงลง เช่นเดียวกับหุ้นสื่อสารและสาธารณูปโภคที่อ่อนตัวลง ด้านหุ้นกลุ่มคอนซูเมอร์และเฮลท์แคร์ปรับตัวขึ้น
หุ้นอีซี่เจ็ต สายการบินราคาประหยัดรายใหญ่ ทะยาน 4.73% เป็นแกนนำหุ้นบวก หลังมอร์แกน สแตนลีย์ ปรับเพิ่มน้ำหนัการลงทุน ตามด้วยหุ้นอินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุ๊ป และเอ็นเอ็มซี เฮลท์ ที่ปรับตัวขึ้น 2.58% และ 2.56% ตามลำดับ
หุ้นบริษัทข้ามชาติได้อานิสงส์จากเงินปอน์ที่อ่อนค่าลง โดยหุ้นบริติช โทแบคโค พุ่ง 2.26% หุ้นเรกคิทท์ เบนคีเซอร์ กรุ๊ป บวก 1.77%
หุ้นแอสตร้าเซนเนก้าบวก 1.25% หลังยาสองตัวผ่านการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลในญี่ปุ่น
ส่วนหุ้นลบนำโดย คิงฟิชเชอร์ ผู้จำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับบ้านรายใหญ่ของยุโรป ร่วงลง 2.30% และเซนทริกา บริษัทสาธารณูปโภค ลดลง 1.38%
หุ้นค้าปลีกลบ โดยหุ้นเน็กซ์ ร้านค้าปลีกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ลดลง 1.65% หุ้นมาร์คแอนด์สเปนเซอร์ ลดลง 0.72% อย่างไรก็ดี หุ้นเบอร์เบอร์รี่ ผู้ผลิตสินค้าหรู ดีดตัวขึ้น 0.50% สวนทางตลาด
ด้านหุ้นซูเปอร์มาร์เก็ต หุ้นเทสโก้ ลดลง 0.91% เซนส์บิวรี่ บวก 0.12% และดับเบิลยูเอ็ม มอร์ริสัน ซูเปอร์มาร์เก็ต ขยับขึ้น 0.09%
หุ้นกลุ่มน้ำมันปรับตัวลง นำโดย บีพี ที่ร่วงลง 1.28% หุ้นรอยัล ดัทช์ เชลล์ ลดลง 0.37% หลังราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 69 ดอลลาร์/บาร์เรล

ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดบวก ขณะนลท.เชื่อมั่นผลประกอบการ-เศรษฐกิจแข็งแกร่ง
          ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (19 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่หน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐจะเผชิญกับการชัตดาวน์นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปรับตัวขึ้น 2.15 จุด หรือ 0.54% ปิดที่ 400.88 จุด ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดในรอบสองปีครึ่ง และตลอดทั้งสัปดาห์ ดัชนีปรับตัวขึ้น 0.6% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สาม
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 13,434.45 จุด เพิ่มขึ้น 153.02 จุด หรือ 1.15% ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,526.51 จุด เพิ่มขึ้น 31.68 จุด หรือ 0.58% ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,730.79 จุด เพิ่มขึ้น 29.83 จุด หรือ 0.39%
นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในและนอกภูมิภาคอย่างใกล้ชิด โดยในสหรัฐนั้น มีรายงานว่า นายชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ได้เดินทางไปยังทำเนียบขาวเพื่อพบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ได้โทรศัพท์หานายชูเมอร์เพื่อเชิญเข้าพบและหารือเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) ที่จะเกิดขึ้น หากวุฒิสภาสหรัฐไม่อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวทันกำหนดเส้นตายเที่ยงคืนวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเที่ยงวันวันเสาร์ตามเวลาไทย
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 230 ต่อ 197 อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเมื่อคืนวันพฤหัสบดีตามเวลาสหรัฐ ก่อนที่จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในวันศุกร์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า วุฒิสภาจะผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวฉบับนี้หรือไม่ เนื่องจากมีวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกันหลายคนกล่าวว่า พวกเขาจะโหวตคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้
ด้านสถานการณ์การเมืองในเยอรมนีนั้น สื่อท้องถิ่นรายงานก่อนหน้านี้ว่า พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) และพรรคสหภาพสังคมคริสเตียน (CSU) ของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) สามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลแล้ว โดยแกนนำของทั้ง 3 พรรคจะนำรายละเอียดของข้อตกลงเกี่ยวกับนโยบายในประเด็นสำคัญต่างๆ จำนวน 28 หน้าเสนอแก่สมาชิกพรรค ซึ่งพรรค SPD จะมีการประชุมสมาชิกพรรคในวันอาทิตย์ที่ 21 ม.ค.นี้ หากที่ประชุมให้การรับรองนโยบายเหล่านี้ และเห็นพ้องที่จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรค CDU/CSU ก็จะถือเป็นการสิ้นสุดภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองของเยอรมนีนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ปีที่แล้ว
ตลาดหุ้นเยอรมนีปรับตัวขึ้นปิดที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา นำโดยหุ้นอาดิดาส ที่ทะยานขึ้น 6.57% หุ้นธิสเซ่นครุปป์ พุ่ง 4.10% หุ้นโฟล์คสวาเกนบวกกว่า 2% หุ้นอินฟิเนียน ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ บวก 1%
ส่วนหุ้นลบในตลาดหุ้นเยอรมนีนำโดย ลินเด้ บริษัทเคมี ลดลง 1.16% ตามด้วยหุ้นเมอร์ค บริษัทยา ลบ 0.44% และหุ้นดอยช์ เทเลคอม บริษัทสื่อสาร ลบ 0.10%
ด้านตลาดหุ้นอังกฤษเคลื่อนไหวผันผวน ก่อนพยุงตัวปิดในแดนบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบห้าวันทำการ โดยได้แรงหนุนจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง หลังสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเผยยอดค้าปลีกเดือนธ.ค.ร่วงลงเกินคาด ขณะที่หุ้นอีซี่เจ็ต สายการบินต้นทุนต่ำ พุ่งทะยานขึ้น 4.73% มากที่สุดในรอบสองเดือน หลังได้รับการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุน
ทั้งนี้ เงินปอนด์ถูกกดดันจากการเปิดเผยยอดค้าปลีกที่ซบเซาของสหราชอาณาจักร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักรดิ่งลงมากกว่าคาดในเดือนธ.ค. โดยร่วงลง 1.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 หลังจากพุ่งขึ้น 1.6% ในเดือนพ.ย.
ONS ระบุว่า ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าในเดือนพ.ย.เนื่องจากได้รับข้อเสนอที่น่าจูงใจจากการลดราคาสินค้าในวัน Black Friday ซึ่งตรงกับวันที่ 24 พ.ย. แทนที่จะรอซื้อสินค้าในเดือนธ.ค.

ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก: ดาวโจนส์ปิดบวก 53.91 จุด ขณะนลท.เมินชัตดาวน์
      ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (19 ม.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P และ Nasdaq ปิดทำนิวไฮ โดยภาวะการซื้อขายได้ปัจจัยหนุนจากมุมมองที่เป็นบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ส่วนความเป็นไปได้ที่สภาคองเกรสสหรัฐอาจไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวได้ทันเส้นตายในวันศุกร์ ซึ่งจะส่งผลให้มีการปิดหน่วยงานของรัฐบาล หรือ ชัตดาวน์นั้น ไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนเท่าไรนัก
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,071.72 จุด เพิ่มขึ้น 53.91 จุด หรือ 0.21% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,810.30 จุด เพิ่มขึ้น 12.27 จุด หรือ 0.44% และดัชนี Nasdaq ปิดที่7,336.38 จุด เพิ่มขึ้น 40.33 จุด หรือ 0.55%
สำหรับทั้งสัปดาห์ ทั้งสามดัชนีปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน โดยดาวโจนส์และ Nasdaq ปรับตัวขึ้น 1% ขณะที่ S&P เพิ่มขึ้น 0.9%
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชัตดาวน์ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อขายมากนัก โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดในเรื่องนี้นั้น มีรายงานว่า นายชัค ชูเมอร์ ผู้นำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ได้เดินทางไปยังทำเนียบขาวเพื่อพบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่ปธน.ทรัมป์ได้โทรศัพท์หานายชูเมอร์เพื่อเชิญเข้าพบและหารือเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) ที่จะเกิดขึ้น หากวุฒิสภาสหรัฐไม่อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวทันกำหนดเส้นตายเที่ยงคืนวันศุกร์ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับเที่ยงวันวันเสาร์ตามเวลาไทย
ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 230 ต่อ 197 อนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเมื่อคืนวันพฤหัสบดีตามเวลาสหรัฐ ก่อนที่จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาในวันศุกร์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า วุฒิสภาจะผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวฉบับนี้หรือไม่ เนื่องจากมีวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกันหลายคนกล่าวว่า พวกเขาจะโหวตคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้
ขณะนี้ พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมาก 51-49 เสียงในวุฒิสภา และร่างกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 60 เสียงเพื่อผ่านวุฒิสภาภายในวันศุกร์ หากวุฒิสภาไม่อนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าว ก็จะส่งผลให้สหรัฐต้องปิดหน่วยงานรัฐบาลเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ ซึ่งจะเป็นวันครบรอบการดำรงตำแหน่ง 1 ปีของปธน.ทรัมป์
นักวิเคราะห์กล่าวว่า หากพิจารณาจากกรณีชัตดาวน์ในอดีตที่ผ่านมานั้น จะเห็นได้ว่านักลงทุนไม่ได้วิตกกังวลกับเรื่องนี้เท่าไรนัก เพราะการชัตดาวน์ไม่ได้ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก หรือส่งผลกระทบต่อจีดีพีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ออกมาระบุว่า การชัตดาวน์จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐ
ขณะเดียวกัน ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กวันศุกร์ ได้แรงหนุนจากสกุลเงินดอลลาร์ที่เคลื่อนไหวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบสามปี ซึ่งนักลงทุนมองว่าจะเป็นผลดีต่อผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันศุกร์ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 94.4 ในกลางเดือนม.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าดัชนีจะดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 97.0 หลังจากอยู่ที่ระดับ 95.9 ในเดือนธ.ค.
ก่อนหน้านี้ ดัชนีความเชื่อมั่นพุ่งขึ้นแตะ 101.1 ในวันที่ 13 ต.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ก่อนที่จะร่วงลงหลังจากนั้น
นายริชาร์ด เคอร์ติน หัวหน้านักวิเคราะห์สำหรับการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคกังวลต่อความล่าช้าในการได้รับอานิสงส์จากมาตรการปฏิรูปภาษี
หุ้นกลุ่มค้าปลีก ธนาคาร และสินค้าอุปโภคบริโภคปรับตัวขึ้น ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาน้ำมัน ด้านหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคปรับตัวลงเช่นกัน
หุ้นแมทเทลบวก 6% หุ้นฟิลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล บวก 3.7% หุ้นแคมป์เบล บวก 2.5%
หุ้นไอบีเอ็มร่วง 4% แม้เผยผลประกอบการไตรมาสสี่แข็งแกร่ง หุ้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรส ลดลง 1.8% หลังจากที่บริษัทระงับโครงการซื้อหุ้นคืนเป็นเวลาหกเดือน
--อินโฟเควสท์

OO4710

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!