หมวดหมู่: สภาอุตสาหกรรม

FTIเจน นำชยศรส.อ.ท. จับมือ ก.อุตฯ - ก.เกษตร ยกระดับเอสเอ็มอีเกษตรไทย ตั้งเป้าปีนี้ 600 กลุ่ม ช่วยได้กว่า 50,000 ราย

       สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จับมือ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “ปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ” หวังยกระดับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เตรียมความพร้อมเป็น SMEs เกษตร อย่างมีคุณภาพ มุ่งสู่ตลาดสากล ณ ห้อง Meeting Room 4 Zone C ชั้น 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

        นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาคเกษตรเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวมากขึ้น สามารถพัฒนาผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มในการแปรรูปผลผลิตได้ โดยการต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรมในด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและยกระดับรวมทั้งเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ไปสู่ SMEs 4.0 และมีความพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป หรือ SMEs เกษตรได้ จึงได้เกิดเป็นความร่วมมือดังกล่าวขึ้น

     “สำหรับ ในส่วนของ ส.อ.ท. โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรนั้น มีขอบเขตความร่วมมือหลัก คือ 1) การสนับสนุนในด้านการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรอย่างถูกวิธี และนำเสนอเครื่องจักร พร้อมหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มวิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการ 2)ประสานการดำเนินโครงการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และ 3) ให้ความร่วมมือกับ กสอ. และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการบริหาร ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง” นายเจน กล่าว

     นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานราก (Local Economy) “สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ เศรษฐกิจฐานราก” พร้อมทั้งกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SME สู่ยุค 4.0 จำนวน 9 มาตรการ ซึ่งโครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ เป็นหนึ่งในมาตรการดังกล่าว มีกลุ่มเป้าหมาย 600 กลุ่มทั่วประเทศ จำนวน 55,000 คน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนเมษายน– เดือนกันยายน 2561 โดยคาดว่าจะสามารถสร้างผู้ประกอบการเกษตรแปรรูป และ SMEs เกษตรเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40

     การลงนามความร่วมมือโครงการ “ปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย (SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐ” ระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาเกษตรกรแห่งชาติในครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพการผลิตให้กับเครือข่าย และเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ เพิ่มผลิตภาพให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อและความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อยกระดับการแปรรูปผลผลิตสินค้าเกษตร และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการปรับเปลี่ยนจากการขายผลผลิตในรูปวัตถุดิบที่ได้ราคาต่ำ เป็นการทำเกษตรอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโยง ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาดอย่างครบวงจร รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้มีความพร้อมเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (SMEs เกษตร) ที่มีความรู้ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณภาพ” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

       ขณะที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นตัวแทนของเกษตรกรที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร รวมทั้งประสานกับภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านการเกษตร การแปรรูปผลผลิตทางเกษตรกรรม ตามความต้องการที่แท้จริงของภาคเกษตรกรรม โดยมุ่งเป้าไปที่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรอย่างยั่งยืน องค์กรเกษตรกรเข้มแข็ง โครงสร้างพื้นฐานและการจัดการทั่วถึง เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งแนวทางเหล่านี้ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 เป็นแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม พ.ศ. 2560 - 2564 และที่เห็นผลเป็นรูปธรรมขณะนี้ คือ นโยบายเกษตรอุตสาหกรรมด้วยการปรับเปลี่ยนจากขายผลผลิตที่ได้ทันที เป็นการแปรรูปผลผลิตที่เป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต

       ซึ่งในปี 2561 สภาเกษตรกรแห่งชาติได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำโครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปไทย (SMEs) ตามแนวทางประชารัฐ โดยบทบาทของสภาเกษตรกรแห่งชาติ คือ การเตรียมความพร้อมขององค์กรเกษตรกรโดยการสำรวจความต้องการขององค์กรเกษตรกร เพื่อเข้ารับการพัฒนาศักยภาพในด้านการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มมูลค่า รวมทั้งพัฒนาการบริหารจัดการตั้งแต่การผลิตการแปรรูป และการตลาด

       ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินโครงการฯ กสอ. จะมีหน้าที่ในการชี้แจงทำความเข้าใจรายละเอียดและประโยชน์ของการเข้าร่วมโครงการให้กับวิสาหกิจกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการ โดยมีกิจกรรมทั้งสิ้น 3 กิจกรรมด้วยกัน คือ 1) การอบรมบ่มเพาะการเป็นผู้ประกอบการ (Farmer to Entrepreneur) เช่น การบริหารจัดการ บัญชี การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ มาตรฐาน การเชื่อมโยงเครือข่าย 2) การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบการเกษตรให้มีมูลค่าสูงขึ้น (Value Added) และ3) สนับสนุนโดยจัดตั้งหน่วยผลิตอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปต้นแบบในพื้นที่ เช่น กลุ่มสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จังหวัดเพชรบุรี (แปรรูปกล้วยหอมทอง) และสหกรณ์กองทุนสวนยาง จังหวัดบึงกาฬ (แปรรูปหมอนยางพารา)

      ซึ่งการดำเนินงานจะบูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐ ประกอบด้วย 1) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 2) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย 3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 4) กระทรวงพาณิชย์ 5) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 6) สมาคมเครื่องจักรกลไทย 7) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 8) บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และ 9) บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) (Central Lab Thai) โดยคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาอย่างเป็นระบบ ตามแนวนโยบายการพัฒนาประเทศ 4.0 และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน.

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!