หมวดหมู่: บทความการเงิน

THAIFAบงกช บวรฤกษ


คืนความเป็นธรรมด้านภาษี ให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ...

    การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทย ใครเสียภาษีได้อย่างถูกต้องถือเป็นผู้มีเกียรติ แต่ถ้ารัฐปฏิบัติต่อผู้เสียภาษีอย่างไม่เป็นธรรม เท่ากับว่าทุกครั้งที่เขาเสียภาษี รัฐกำลังทำร้ายจิตใจของคนดี และผลักไสให้เขารู้สึกต่อต้านจนนำไปสู่การหลีกเลี่ยงที่จะเสียภาษีในที่สุด

    หลักทั่วไปในการคำนวณเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อเสียภาษี  เราจะเริ่มจากการหาว่าผู้มีเงินได้มีรายได้รวมเท่าไร จากนั้นให้นำไปหักกับรายจ่ายที่กฎหมายกำหนดเพื่อหารายได้สุทธิ สุดท้าย จึงคำนวณภาษีตามอัตราที่รัฐกำหนด

    ในประมวณรัษฎากร มาตราที่ 40 แบ่งเงินได้พึงประเมินของบุคคลธรรมดาออกเป็น 8 ประเภท ตามลักษณะอาชีพและการทำงาน  โดยแต่ละกลุ่มจะกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันตามต้นทุน ตามความจำเป็นที่ต้องใช้ในการประกอบอาชีพนั้นๆ  เช่น มาตรา 40(1) กลุ่มอาชีพลูกจ้างหรือคนกินเงินเดือน จะกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท เนื่องจากมองว่าคนกินเงินเดือนมีต้นทุนในการประกอบอาชีพเพียงการแต่งตัวไปทำงาน ค่าเดินทางและค่าอาหารกลางวัน นอกนั้นนายจ้างรับผิดชอบต้นทุนในการดำเนินงานทั้งหมด

     ส่วนกลุ่มอาชีพอื่นๆ เช่น มาตรา 40(6) วิชาชีพอิสระ อาชีพที่ต้องใช้ความรู้ชั้นสูง ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์หรือใบประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ ทนายความ วิศวกร นักบัญชี ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา 30% มาตรา 40(7) ผู้รับเหมา ให้หักค่าใช้จ่ายได้ 70% และมาตรา 40(4) รายได้จากดอกเบี้ย หักค่าใช้จ่ายไม่ได้ เนื่องจากเงินฝากสามารถออกดอกออกผลได้เอง โดยที่เราไม่ต้องลงแรงใดๆ

      กลุ่มที่เป็นที่ถกเถียงกันมากในปัจจุบันคือ มาตรา 40(2) เงินได้จากการรับทำงานให้ หรืออาจพูดได้ว่า คือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้กินเงินเดือนหรือเป็นลูกจ้าง เช่น ตัวแทน นายหน้า ผู้รับทำงานวิจัย นักเขียนโปรแกรม หรือนักจัดงานพิธีการต่างๆ (Event organizer) โดยกลุ่มนี้  ปัจจุบัน กฎหมายกำหนดให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เช่นเดียวกับคนกินเงินเดือน คือ หักได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ไม่ว่าพวกเขาจะมีรายได้ 3 แสนบาท, 5 แสนบาท, 1 ล้านบาทหรือ 5 ล้านบาท ซึ่งน่าจะมีที่มาจากหลักคิดที่ว่า คนกลุ่มนี้ ใช้เพียงแรงงาน หรือสติปัญญาในการประกอบอาชีพ ไม่ได้มีการลงทุนในเครื่องมือเครื่องใช้อะไรมากมาย  จึงสมควรหักค่าใช้จ่ายเท่ากับคนกินเงินเดือน

      วิธีคิดแบบนั้นคงไม่ผิด  ถ้าเป็นสมมติฐานเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบัน  ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบอาชีพต้องแข่งขันในเรื่องของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การนำเสนอ และการบริการหลังการขาย จึงต้องมีการลงทุนในเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย มีการทำตลาด  พร้อมทั้งมีการรับรองลูกค้าที่เหมาะสม ทำให้ต้นทุนในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น แปรผันตามรายได้

ขอยกตัวอย่าง อาชีพตัวแทนขายประกันชีวิต หากมองกันเผินๆ พวกเขาก็เพียงใช้คารม คมคายในการเสนอขาย แต่ในความเป็นจริงของปัจจุบัน  ถ้าต้องการอยู่รอดและประสบความสำเร็จ ตัวแทนมืออาชีพต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นมืออาชีพ ต้องพิถีพิถัน

       ตั้งแต่ภาพลักษณ์ภายนอกที่ต้องดูดี เสื้อผ้า เครื่องประดับ พาหนะที่ใช้  ของเยี่ยมของฝาก พร้อมกับการนำเสนออย่างมืออาชีพ ด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย พวกเขายังต้องหมั่นเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่างๆทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ก้าวทันกับพัฒนาการในแวดวงการเงินที่ต้องเปลี่ยนไปเป็นนักวางแผนการเงิน ทั้งยังต้องติดตามเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ  หากเขาต้องการมีรายได้มาก เขายิ่งต้องพบลูกค้ามาก ค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มเป็นเงาตามตัว (โปรดดูตารางเปรียบเทียบค่าใช้จ่าย)

ตารางเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้มีเงินได้มาตรา 40(1) และ 40(2)

อาชีพตามมาตรา 40(1) อาชีพตามมาตรา 40(2)

-นายจ้างจัดหาสถานที่ทำงานให้

-นายจ้างจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือให้

-นายจ้างรับผิดชอบโสหุ้ยดำเนินงาน

-นายจ้างรับผิดชอบหากชิ้นงานเสียหาย

-นายจ้างออกค่ารับรอง/ค่าการตลาดให้ทั้งหมด

-นายจ้างออกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมให้

-นายจ้างจัดหาสวัสดิการและประกันสังคมให้

-นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนแม้ชิ้นงานไม่สำเร็จ

-ผู้มีเงินได้รับผิดชอบเพียงชุดทำงาน/ค่าเดินทาง

-ไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไร

-ต้องจัดหาสถานที่ทำงาน/ที่ติดต่อเอง

-ต้องลงทุนเครื่องมือเครื่องใช้เอง

-รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดำเนินงานเอง

-รับผิดชอบความเสียหายของชิ้นงานเอง

-ออกค่าใช้จ่ายในการทำตลาดและค่ารับรองเอง

-รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมเอง

-รับผิดชอบสวัสดิการของตนเอง

-ได้รับผลตอบแทนเมื่องานสำเร็จตามข้อตกลงเท่านั้น

-รับผิดชอบชุดทำงาน/ค่าเดินทางเอง

-เมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว  ในเรื่องความเสี่ยงด้านรายได้ และหลักประกันในชีวิต ก็ยังมีความแตกต่างระหว่างผู้ประกอบอาชีพอิสระกับพนักงานบริษัทหรือข้าราชการดังนี้

หลักประกัน / ความเสี่ยง คนกินเงินเดือน /พนักงานบริษัท ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
-งานที่รับมอบหมายไม่สำเร็จ -ได้รับเงินเดือนปกติ -ไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆ
-สวัสดิการค่ารักษา / ประกันชีวิต -ส่วนใหญ่มีประกันหมู่ให้ -ไม่มี ต้องจัดหาเอง
-กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ -บริษัทสมทบ -ไม่มี
-ประกันสังคม -บริษัทถูกบังคับให้จัดหาให้ -ไม่มี
-หลักประกันด้านการงาน -มีกฎหมายแรงงานดูแล / 6-12 เดือน -ไม่มีเงินชดเชย หากต้องออกจากงาน
-ความมั่งคงด้านรายได้ -เงินเดือนเพิ่มทุกปี -รายได้ไม่แน่นอน มีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองตลอดเวลา

 

คนประกอบอาชีพอิสระนี้ ความจริงถือเป็นคนมีศักยภาพ  เขาจึงกล้าทิ้งหลักประกัน(จากบริษัท)มาทำงานอิสระ โดยมีความเชื่อว่า  ถ้าเขาทุ่มเททำงานหนัก  เขาควรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามการทุ่มเทของเขา  แทนที่รัฐจะสนับสนุนให้พลเมืองของตนขยันขันแข็ง  กลับบั่นทอนกำลังใจด้วยการคิดภาษีที่ไม่เป็นธรรม เป็นการทำลายประสิทธิภาพการผลิตของชาติโดยไม่รู้ตัว

ผู้เขียนเชื่อว่า มีความขัดแย้งกันเองในวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีของอาชีพอิสระนี้ กล่าวคือ เดิมบอกว่า คนกลุ่มนี้มีลักษณะใช้แรงงานหรือสติปัญญา ไม่มีต้นทุนดำเนินงานมากนัก จึงให้หักค่าใช้จ่ายได้เพียง 100,000 บาท แต่พอมีการนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาบังคับใช้ ก็ให้คนในกลุ่มนี้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย  เมื่อถามถึงสาเหตุ ก็ได้ความว่า มีลักษณะงานคล้ายการทำธุรกิจ  แต่ก็น่าสงสัยว่า  ถ้าคล้ายการทำธุรกิจ ทำไมไม่ให้หักค่าใช้จ่ายเหมือนมาตรา 40(8) ผู้มีเงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ไม่มีเพดานหรือตามค่าใช้จ่ายจริงได้

อาจมีเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรแย้งว่า ความจริง ในปัจจุบันทางกรมก็ได้เปิดช่องให้กลุ่มอาชีพอิสระที่ประกอบอาชีพในเชิงธุรกิจให้ยื่นเสียภาษีแบบ 40(8)ได้แล้ว โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง แต่เมื่อไปดูเงื่อนไขในรายละเอียด พบว่า ผู้มีเงินได้นั้นต้องจัดให้มีสำนักงาน มีลูกจ้างประจำ หรือต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม  จึงจะเข้าข่ายในการยื่นเสียภาษีตามมาตรา 40(8) 

คำถามคือ  คนประกอบอาชีพอิสระ อย่างนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นักวิจัยอิสระ ที่ไม่มีลูกจ้างประจำ  ไม่มีหน้าร้าน  พวกเขายังต้องลงทุนในอุปกรณ์คอมพิวเตอร์  การอบรมสัมมนา หรือแม้แต่การว่าจ้างผู้ช่วยชั่วคราว (เอาท์ซอร์ซ)อยู่หรือไม่  ต้นทุนของพวกเขามีการแปรผันตามรายได้ใช่หรือไม่

หากพวกเรายังไม่ตกผลึกกับความคิดที่ว่า โลกทุกวันนี้เปลี่ยนไป จนคนที่ประกอบอาชีพอิสระต้องพัฒนาศักยภาพในทุกทางเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่มีทั้งบุคคลธรรมดาและที่มาในรูปบริษัท คู่แข่งที่มีทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ มันคงยากที่จะเข้าใจและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้มีเงินได้ที่พยายามเสียภาษีให้ถูกต้อง หากรัฐตระหนักในข้อเท็จจริงนี้ รัฐก็คงจะทราบเองว่าจะคืนความยุติธรรมให้เขาเหล่านั้นได้อย่างไร

โลกปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะทำงานอิสระมากขึ้น คนเหล่านี้กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคม พวกเขาเป็นกำลังที่สำคัญของชาติ เต็มไปด้วยความฝันและความมุ่งมั่น  รัฐบาลจึงสมควรสนับสนุนเขาเพื่อจะได้พัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการใหญ่ในอนาคต และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติโดยรวมในที่สุด

นับเป็นโอกาสที่ดีที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้มีนโยบายที่จะปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบให้เกิดความเป็นธรรม เพราะหากรัฐสามารถหยิบยื่นความเป็นธรรมให้พวกเขาเหล่านั้นจะได้มีกำลังใจที่จะสร้างเนื้อสร้างตัว ทุ่มเททำงาน ทำให้เกิดผลผลิตมากกว่าที่ผ่านๆมา สุดท้าย กรมสรรพากรก็จะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้นจากธุรกรรมหรือผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้นนี้เอง

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!