หมวดหมู่: พาณิชย์

MOCนนทวลย ศกนตนาค


พาณิชย์ แจงสหรัฐฯ ไม่ให้ขึ้นภาษีเหล็กกับอลูมิเนียมจากไทย ได้ต่ออายุ GSP

    นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงผลการประชุมกรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (TIFA) เมื่อวันที่ 9-10 เม.ย.ที่ผ่านมา ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ว่า ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ดีและมีมายาวนานระหว่างกันถึง 200 ปี โดยไทยได้ขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นการใช้มาตรการ 232 และไม่ขึ้นภาษีเหล็กและอลูมิเนียมจากไทย ชี้แจงเหตุผลในฐานะประเทศพันธมิตรที่ดีต่อกันมายาวนาน อีกทั้งไทยมีการส่งออกและครองส่วนแบ่งตลาดเหล็กและอลูมิเนียมในสหรัฐฯ น้อย มีมาตรการกำกับดูแลไม่ให้เหล็กจากประเทศอื่นมาอ้างสิทธิว่าเป็นเหล็กจากไทย ตลอดจนมีการใช้มาตรการทุ่มตลาดกับเหล็กนำเข้าราคาต่ำทะลักเข้าไทย และพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการแก้ไขปัญหาเหล็กส่วนเกินในตลาดโลก ขณะเดียวกันไทยได้แจ้งการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองแรงงานซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก ทั้งในส่วนการปราบปรามสินค้าละเมิดฯ การบังคับใช้กฎหมาย และการพัฒนาปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น และได้ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย โดยไม่จัดไทยไว้ในกลุ่มประเทศที่ต้องถูกทบทวนว่าจะได้ต่ออายุ GSP หรือไม่

     ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุม TIFA ครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี โดยเฉพาะในประเด็นการต่ออายุ GSP เนื่องจากในช่วงวันหยุดสงกรานต์เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศรายชื่อประเทศที่ต้องถูกทบทวนการต่ออายุ GSP เพราะไม่ได้เปิดตลาดและคุ้มครองสิทธิแรงงาน และไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อดังกล่าว โดยประเทศที่อยู่ในรายการทบทวนและอาจเสี่ยงถูกตัด GSP จากสหรัฐฯ มี 3 ประเทศ คือ อินเดีย (กรณีเปิดตลาดโคนมและอุปกรณ์ทางการแพทย์) อินโดนีเซีย (กรณีเปิดตลาดสินค้า บริการและการลงทุน) และคาซัคสถาน (กรณีการคุ้มครองแรงงานและสิทธิแรงงาน) นอกจากนี้เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ประกาศรายชื่อประเทศที่มีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเงินที่อาจส่งผลกระทบกับสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวัง และมีการหารือกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดมี 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งไทยไม่ได้อยู่ในรายชื่อดังกล่าวเช่นกัน

    ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไทยยังได้หารือขอให้สหรัฐฯ เร่งกระบวนการตรวจสอบด้านสุขอนามัยกับสินค้าส้มโอของไทย เพื่อให้สามารถส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ได้ ซึ่งสหรัฐฯ แจ้งว่ากระบวนการต่าง ๆ ใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว และหากไม่มีผู้คัดค้าน ไทยน่าจะสามารถส่งออกส้มโอไปสหรัฐฯ ได้ภายในปีนี้ รวมทั้งได้หารือเรื่องที่จะให้กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ รับรองให้หน่วยงานไทย อาทิ กรมการข้าว และกรมวิชาการเกษตรของไทย เป็นหน่วยงานที่สามารถตรวจและออกเครื่องหมายรับรองเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐฯ กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยไปตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดที่ให้การยอมรับตราเครื่องหมายรับรองเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐฯ

     ส่วนเรื่องที่สหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยยอมรับค่าความปลอดภัยของสารเร่งเนื้อแดง (แรคโตพามีน) ในเนื้อหมูและเครื่องใน ตามมาตรฐาน Codex นั้น ไทยได้ชี้แจงให้เห็นว่าจะต้องมีการศึกษาและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันต่อไปในเรื่องการศึกษา และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระดับความปลอดภัยของการใช้สารแรคโตพามีน การประเมินความเสี่ยงต่อผู้บริโภค และการจัดการด้านความปลอดภัยผู้บริโภค เป็นต้น

    ทั้งนี้ ในปี 2560 สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของไทย รองจาก จีน และญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้ารวม 41,400.82 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 13.30 โดยไทยส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 26,536.64 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีสินค้าส่งออกสำคัญได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องนุ่งห่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า และไทยนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 14,864.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีสินค้านำเข้าสำคัญได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันดิบ อุปกรณ์ยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์

    อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!