หมวดหมู่: อุตสาหกรรม

INDUS มงคล พฤกษวฒนา


กรอ.ตั้งเป้าหมายยกระดับโรงงานในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว

     นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เผย กรอ.ได้ดำเนินการให้คำแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการเพื่อมุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวกับโรงงานอุตสาหกรรมในกลุ่มพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง และลุ่มน้ำภาคตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์ให้สถานประกอบการมีการควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งหลังจากการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมให้เป็นที่ยอมรับ ช่วยลดผลกระทบในการนำไปใช้อุปโภคบริโภคของสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยสายน้ำหลักในการดำรงชีพ เหมาะกับการสัญจร และมีทัศนียภาพที่ดี นอกจากนี้ยังมุ่งหวังให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆได้รับการถ่ายทอดความรู้เชิงลึกในการบริหารจัดการพร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด

    โดยผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการดังกล่าวในปีที่ผ่านมาพบว่า สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถยื่นขอการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่สูงขึ้นได้ทั้งสิ้น 303 โรงงาน แบ่งเป็น อุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 2 จำนวน 245 โรงงาน, ระดับที่ 3 จำนวน 51 โรงงาน และระดับที่ 4 จำนวน 7 โรงงาน นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำโรงงานสามารถใช้ทรัพยากรและพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังช่วยลดมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยสามารถลดปริมาณของเสียได้ถึง 4,000 ตัน/ปี ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6,172.83 ตัน/ปี ลดปริมาณการใช้น้ำได้ 150,794 ลบ.ม./ปี ลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 6,377,566.98 กิโลวัตต์-ชม./ปี และยังมีการลดต้นทุนการผลิตในภาพรวมได้อีกประมาณ 47 ล้านบาท

     สำหรับ ในปีงบประมาณ 2561 กรอ.ยังคงได้รับมอบหมายให้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาโรงงาน และสถานประกอบการเข้าสู่การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว โดยจะเน้นการสร้างความตระหนักให้บุคลากรในทุกระดับมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ แนวคิด และประสบการณ์จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เป็นตัวอย่างและแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแก่สถานประกอบการ อีกทั้งยังจะมีการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประเมินและการให้บริการช่วยเหลือโรงงานให้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวในปริมาณที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    ทั้งนี้ กรอ.มีแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การจัดทำหลักปฏิบัติเทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดสำหรับอุตสาหกรรมระดับรายสาขา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีการผลิต พร้อมเตรียมถ่ายทอดสู่อุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve การปรับปรุงฐานข้อมูลน้ำในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถประมาณปริมาณความต้องการน้ำใช้ของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างน่าเชื่อถือ รวมถึงการให้คำแนะนำเชิงลึกแก่สถานประกอบการโดยผู้เชี่ยวชาญ

     อย่างไรก็ดี กรอ.ตั้งเป้าหมายในการยกระดับโรงงานในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวตั้งแต่ระดับที่ 2 ขึ้นไป เพิ่มขึ้นอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 400 โรงงาน และทั่วประเทศ 2,000 โรงงาน ทั้งนี้จากผลดำเนินงานการตรวจประเมินสถานประกอบการที่ขอเทียบระดับหรือเลื่อนระดับสู่อุตสาหกรรมสีเขียวที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554-2561 มีโรงงานที่ได้รับรองอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่ 1-5 รวมทั้งสิ้น 32,962 ราย แบ่งเป็น ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) 19,601 ราย ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) 7,103 ราย ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) 5,937 ราย ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) 285 ราย และระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) 36 ราย

            อินโฟเควสท์

กนอ.ออก 4 มาตรการ ป้องเหตุอัคคีภัย 56 นิคมฯ ช่วงหน้าร้อน

     การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตือนโรงงานใน 56 นิคมฯ ให้ดูแลความปลอดภัยในช่วงหน้าร้อน พร้อมชูมาตรการให้ทุกนิคมอุตสาหกรรม เฝ้าระวังอุบัติภัยในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ และจับมือผู้ประกอบการทุกรายในนิคมฯ จัดทีมเฝ้าระวังในโรงงานและในพื้นที่รอบนิคมฯ ตลอด 24 ชั่วโมง

    นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ซึ่งในช่วงระยะเวลานี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติภัยโดยเฉพาะอัคคีภัยในสถานประกอบการ ซึ่งมีปัจจัยมาจากสภาพอากาศ และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ดังนั้น กนอ. จึงขอความร่วมมือโรงงานในนิคมฯ กว่า 4,500 แห่ง ใน 56 นิคมฯ ให้เฝ้าระวังสถานประกอบกิจการ และการเตรียมความพร้อมในการป้องกันการเกิดอุบัติภัยในช่วงหน้าร้อน ตลอดจนการตรวจสอบอุปกรณ์ป้องกันให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

     ทั้งนี้ กนอ. ได้ออกมาตรการไปยังผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ให้ดูแลป้องกันอุบัติภัยทั้งในช่วงดำเนินกิจการปกติ และช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ด้วยการกำหนดมาตรการเตรียมความพร้อมในนิคมอุตสาหกรรม ดังนี้

    1.ให้จัดเตรียมระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง และการบริการให้เพียงพอกับการผลิตของโรงงานในแต่ละนิคมฯ พร้อมขุดลอกรางระบายน้ำฝน รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการจราจรภายในนิคมฯ ตลอดช่วงระยะเวลาหยุดยาว

    2.ให้จัดเตรียมบุคลากร อุปกรณ์และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับกรณีเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติภัย พร้อมช่องทางในการประสานขอความช่วยเหลือจาก ตัวแทนนิคมฯ และหน่วยงานภายนอก ได้แก่ หน่วยป้องกันสาธารณภัย หน่วยงานราชการท้องถิ่น และปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนป้องกันและบรรเทาภัยระดับนิคมฯ อย่างเคร่งครัด

     3.หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรง ให้สำนักงานนิคมฯ แจ้งรายงานข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุการณ์ภาวะฉุกเฉิน ภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที นับตั้งแต่ได้รับทราบเหตุการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว

     4.สำนักงานนิคมฯ ต้องเตรียมพร้อมรองรับกรณีเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุเพลิงไหม้ และสามารถติดต่อประสานงานได้ตลอดเวลา ทั้งในช่วงระยะเวลาวันหยุดยาว และช่วงเวลาปกติ

     นอกจากนี้ กนอ. ยังได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการในนิคมฯ จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำ เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมตรวจสอบและปรับปรุงสภาพอุปกรณ์ เครื่องจักรที่มีความเสี่ยงจะเกิดอุบัติเพลิงไหม้ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังของศูนย์ปฏิบัติการ กนอ. ที่ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งการปฏิบัติงานเฝ้าระวังดังกล่าว จะทำงานควบคู่ไประบบเฝ้าระวังฯ ของศูนย์ควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในนิคมอุตสาหกรรม (EMCC) และระบบสารสนเทศสำหรับศูนย์ปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (War Room) ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงเพื่อประเมินระดับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

       อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!