หมวดหมู่: บทวิเคราะห์
ASP
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน 
กลยุทธ์การลงทุน
  สงครามการค้าผ่อนคลายช่วงสั้น แต่ให้ติดตามผลกระทบเศรษฐกิจโลก จากการประเมินของ IMF  และการแถลงนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ ส่วนในประเทศยังมี Earnings Preview และการประมูลคลื่น 900-1800MHz น่าจะมี DTAC, ADVANC เข้าร่วม กลยุทธ์ฯ เน้นหุ้นปัจจัยสี่ (BJC, BH) สาธารณูปโภค (RATCH, TTW, EASTW, DTAC) ปลอดภัยดอกเบี้ยขาขึ้น (BBL, KBANK, PLANB) และได้ประโยชน์เงินบาทอ่อนค่า (CPF, TU, GFPT) Top picks: GFPT(FV@14) และ CPF(FV@B30) ราคาเนื้อหมูขยับเหนือต้นทุน ผลกำไรเพิ่มต่อเนื่องใน 2H61
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้….SET ยังไม่ผ่าน 1650 จุด  
  วันศุกร์ที่ผ่านมา SET Index พยายามขึ้นทดสอบแนวต้านที่ 1,650 จุด โดยแกว่งบวก-ลบสลับ ปิดตลาดที่ 1,643.52 จุด เพิ่มขึ้น 2.59 จุด หรือ +0.16% แต่มูลค่าซื้อขายเบาบางเพียง 3.76 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำสุดในปีนี้ ทั้งนี้ดัชนีได้แรงหนุนจากกลุ่ม ธ.พ. โดยเฉพาะ TMB +4.17% ตามด้วยกลุ่มอาหาร-ส่งออก ที่ยังได้อานิสงค์บาทอ่อนค่า และสงครามการค้าที่ผ่อนคลายช่วงสั้น (HANA, DELTA) ส่วนหุ้นที่ติดลบ กระจุกตัวในหุ้นพลังงาน-ปิโตรฯ PTT PTTEP PTTGC  เป็นต้น   
  แนวโน้มตลาดฯ วันนี้คาดยังเผชิญกับแนวต้าน 1650 จุด โดยยังขาดแรงหนุน แต่สัปดาห์นี้ น่าจะให้น้ำหนักต่อการประเมิน GDP Growth ของ IMF และแถลงการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐ หลังรายงานเงินเฟ้อเดือน มิ.ย. สหรัฐ เพิ่มขึ้นแตะ 2.9% และมีแนวโน้มเพิ่มอีกแรงจากสงครามการค้า 
ติดตามคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจโลก และสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้
  ปัจจัยต่างประเทศในสัปดาห์นี้ให้น้ำหนักกับ 2-3 เรื่อง เริ่มจากเช้านี้เวลา  9.00 น. จีนจะประกาศ GDP growth งวด 2Q61 ตลาดคาด 6.7%yoy ชะลอเล็กน้อยจาก 6.8%yoy แต่ให้น้ำหนักในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีการปรับลดประมาณการปี 2561ที่คาด 6.6% หรือไม่  (ประเมินโดย IMF)
  ตามด้วยค่ำวันนี้  IMF จะออกรายงานการทบทวนคาดการณ์ GDP Growth โลก ครั้งใหม่ หลังจากที่รอบล่าสุดเดือน เม.ย. คาดจะขยายตัว 3.9%yoy ทั้งปี 2561-2562 แต่ยังไม่รวมผลกระทบจากสงครามการค้าโลก เชื่อว่าการประเมินรอบใหม่น่าจะชะลอ จากสงครามการค้าโลก  
  และ 17 ก.ค. ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed)  นาย Jerome Powell จะกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภา คองเกรส ถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งต้องให้น้ำหนักว่า Fed จะมีมุมมองการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างไร หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐ ล่าสุดเดือน มิ.ย. ขยายตัว 2.9%yoy สูงสุดในรอบ 6 ปี และอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.0% 
ราคาน้ำมันโลกมีแต่ทรง-ลง supply ใหม่ทยอยออกมา 
  แม้ราคาน้ำมันดิบโลกยังยืนเหนือ 70 เหรียญฯ แต่เชื่อว่ามีโอกาสย่อตัวลง เพราะเชื่อว่าจะมี supply จากแหล่งผลิตสำคัญ ๆ ทยอยออกมาและจะกลับมา  Oversupply อีกครั้ง โดยคาดว่าประเทศในกลุ่ม OPEC จะเริ่มทยอยเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน เพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่หายไป จากอิหร่านและเวเนซุเอล่าที่ถูกสหรัฐคว่ำบาตร และสหรัฐน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มการผลิตต่อเนื่อง ล่าสุด อยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  ประกอบกับแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกที่อาจชะลอลง จากผลกระทบสงครามการค้าโลกที่ ที่เกิดขึ้นแล้ว และ Dollar Index แนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง (แข็งค่าแล้วราว 3.2% นับตั้งแต่ต้นปี) จากดอกเบี้ยขาขึ้น ตามแรงส่งของเงินเฟ้อ  น่าจะกดดันหุ้นน้ำมันลงมาต่ำกว่า 70 เหรียญฯ ขณะที่ราคาหุ้นใกล้เคียงกับมูลค่าหุ้นปี 2561 หรือมี Upside จำกัด แนะนำขายทั้ง PTT(FV@B54) และ PTTEP(FV@B137)  
ประมูลคลื่น 1800/900MHz คาด ADVANC และ DTAC เข้าประมูล
  หลังจากที่ กสทช. ได้ปรับเงื่อนไขประมูลการประมูลคลื่น 1800 MHz โดยแบ่งออกเป็น 9 ใบ ใบละ 5 MHz อายุ 15 ปี (เดิม 3 ใบ) ราคาตั้งต้นใบละ 1.24 หมื่นล้านบาท (ราคาต่อ MHz เท่าเดิม) และตัดเกณฑ์ N-1 ออก พร้อมให้นำคลื่น 900 MHz ออกประมูลขนาด 5 MHz อายุ 15 ปี ราคาตั้งต้นที่ 3.74 หมื่นล้านบาท  (ราคาต่อ MHz เท่าเดิม) และได้กำหนดระยะเวลาการรับซองประมูลตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. – 7 ส.ค.61 ผ่านมา 1 สัปดาห์ ยังไม่มีผู้ให้บริการรายใดเข้ารับซองประมูล แต่คาดว่าบรรดาค่ายมือถือจะทยอยรับซองในช่วงสัปดาห์นี้ 
  จากการประเมินของฝ่ายวิจัย คาดว่า TRUE ไม่น่าจะเข้าร่วมประมูล ทั้ง 2 คลื่น เนื่องจากมีจำนวนคลื่นในมือเพียงพออยู่แล้ว (คลื่น 900 MHz จำนวน 10 MHz และ 1800 MHz จำนวน 15 MHz) อีกทั้งความหนาแน่นลูกค้าต่อคลื่น 1 MHz ไม่มากนัก อยู่ที่ 0.5 ล้านราย ใกล้เคียงกับ  DTAC อยู่ที่ 0.48 ล้านราย ยกเว้น  ADVANC ที่หนาแน่นสุด  0.7 ล้านราย  ทำให้มีความต้องการคลื่นใหม่มากสุด
  อย่างไรก็ตามสำหรับ  DTAC น่าจะมุ่งเป้าไปที่ 900 MHz เป็นหลัก เพราะเป็นคลื่นสั้น  ช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้า 3G เพราะหลังสิ้นสุดสัมปทาน ก.ย. 2561 คลื่นจะหายไป  55 MHz แบ่งเป็น คลื่น 850 10 MHz  ให้บริการ 3G, 1800 45 MHz ให้บริหาร 2G และ 4G  หากไม่ประมูลคลื่นเพิ่มเท่ากับจะเหลือคลื่นให้บริการ  คือ  2100 MHz   15  MHz  ให้บริการ 3G และ 4G  และคลื่น 2300  30 MHz ( ที่เพิ่งทำสัญญากับ TOT ถึงปี 2568) อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงข่าย 4G  โดยยังขาด  2G ซึ่งสามารถขอโรมมิ่งกับ ADVANC  
  ส่วน ADVANC คาดจะร่วมประมูลเฉพาะคลื่น 1800 MHz เพื่อมาลดความหนาแน่นลูกค้าต่อคลื่น 1 MHz ซึ่งคาดว่าจะประมูลจำนวน 5 MHz และน่านำมาประกอบกับคลื่นเดิมที่มี 15 MHz เพื่อให้มีบริการ 4G เต็มประสิทธิภาพบนคลื่นผืนเดียว 20 MHz
  ภาพรวมดูผ่อนคลายลง แต่แนวโน้มการเติบโตกำไรกลุ่มฯ  ทั้งปี 2561 จะยังอยู่ในอัตราต่ำกว่าตลาด   ภายใต้สงครามการค้าคาดว่าหุ้นมือถือว่าน่าจะปลอดภัยระดับหนึ่งเพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน เลือก ADVANC (FV@B230)  ตามด้วย  DTAC (FV@B68) ซึ่งได้ผ่านจุดต่ำสุดจากการสูญเสียลูกค้าแก่ TRUE 
ต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อหุ้นในภูมิภาคบ้าง แต่ยังขายไทย
  วันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 2 ด้วยมูลค่า 267 ล้านหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิถึง 3 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ถูกซื้อสุทธิ 211 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ตามมาด้วยไต้หวัน 36 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิ 2 วัน) และอินโดนีเซีย 32 ล้านเหรียญ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 2 ประเทศ แม้จะถูกขายสุทธิ แต่แรงขายเริ่มเบาลง คือ ฟิลิปปินขายสุทธิ 1 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7) และไทยขายสุทธิ 11 ล้านเหรียญ หรือ 357 ล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกันเป็นวันที่ 10) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 1.04 พันล้านบาท (หลังขายสุทธิเพียงวันเดียว)
  ส่วนทางด้านตราสารหนี้ ต่างชาติขายสุทธิ 721 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 2) ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ขยับขึ้นมาเล็กน้อยอยู่ที่ 2.76%
เก็งกำไรช่วงสั้นหุ้นส่งออก กลยุทธ์หลักยังเน้น Domestic Play 
  ตลาดผ่อนคลายช่วงสั้น แต่เชื่อว่าผลจากสงครามการค้ายังคงมีอยู่ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและการค้าโลกจะชัดเจนในปี 2562 ขณะที่ในระยะสั้นน่าจะเห็นการกลับมา Outperform ของหุ้นกลุ่มส่งออกอาหารและชิ้นส่วนฯ เนื่องจากราคาปรับตัวลงไปมากในช่วงก่อนหน้าซึ่งได้สะท้อนความกังวลไประดับหนึ่ง ประกอบกับค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า จึงเป็นปัจจัยหนุน เน้น selective buy เลือกหุ้นส่งออก-อาหาร GFPT(FV@14), CPF(FV@30) และหุ้นชิ้นส่วนฯ HANA(FV@40) แม้มี upside 11% แต่สามารถลงทุนได้เมื่อราคาอ่อนตัว นอกจากนี้ HANA ยังเป็นหุ้นที่ไม่มีหนี้สิน จึงปลอดภัยจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น มากสุดในกลุ่มฯ
  อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การลงทุนหลัก เน้นหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศ และมีเกราะป้องกันจากดอกเบี้ยขาขึ้น  โดยให้น้ำหนักลงทุน 40% ของพอร์ต ชอบ TTW, RATCH, BJC, DTAC, ADVANC, BBL, KBANK และ BH  (ติดตามอ่านรายละเอียดรายงานฉบับยาว ใน Investment Strategy 9 ก.ค. 2561) 
ภรณี ทองเย็น  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004146
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 004132
พบชัย ภัทราวิชญ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 052647
ภราดร เตียรณปราโมทย์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 075365
ฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์  เลขทะเบียนนักวิเคราะห์: 087636
โยธิน ภูคงนิล  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เจิดจรัส แก้วเกื้อ  ผู้ช่วยนักวิเคราะห์
วรรณพฤกษ์ โกมลวิทยาธร  ผู้ช่วยนักเศรษฐศาสตร์
OO11286

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!