หมวดหมู่: ไอที-เทคโนฯ

1aaaaA1


กทปส. ชูต้นแบบพัฒนาดาวเทียมสัญชาติไทย มจพ. เดินเครื่องต่อยอดงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

     กทปส. เดินหน้าสนับสนุนและให้ทุนวิจัยทางด้านการพัฒนาดาวเทียมแก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) วงเงินสนับสนุน 9,602,190 บาท เพื่อสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านอวกาศ และนำความรู้ไปพัฒนาดาวเทียมสู่การพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของประเทศและการเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศ นับเป็นองค์กรต้นแบบที่ได้ต่อยอดงานวิจัยสู่การสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาและวิจัยด้วยฝีมือคนไทย พร้อมกันนี้ ‘ศาตราจารย์ ดร.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา’ หัวหน้าโครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา (KNACKSAT) ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบิน-อวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มาเปิดเผยถึงการดำเนินโครงการสู่ความพร้อมในการส่งดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT)

     มจพ. ต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้งานจริง พร้อมส่งขึ้นโคจรในอวกาศปลาย ก.ย. 61

      จุดเริ่มต้นโครงการออกแบบและสร้างดาวเทียมต้นแบบวิศวกรรมรูปแบบคิวแซท (CubeSat)มจพ.ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี2555 ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2558 ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เพื่อพัฒนาโครงการดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT) เพื่อออกแบบและสร้างดาวเทียมจริงรูปแบบคิวแซท (CubeSat) น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม โดยจะจัดส่งดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT) เข้าสู่วงโคจรในปีนี้ ข้อมูลล่าสุดจากทางบริษัทส่งดาวเทียมคือระหว่างวันที่ 30 กันยายน ถึง 6 ตุลาคม ปีนี้ ขณะนี้ โครงการได้ดำเนินการจัดสร้างดาวเทียมที่จะส่งขึ้นวงโคจรเสร็จเรียบร้อยแล้วมีความสมบูรณ์ 100% โดยในเดือนสิงหาคมทางโครงการฯ จะนำดาวเทียมไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อประกอบเข้ากับชุดอุปกรณ์ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรเพื่อรอการส่งขึ้นสู่วงโคจรต่อไป

      “เนื่องจากเราเป็นสถาบันการศึกษา ผมถือว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้คือ เพื่อการศึกษาและ เป็นการสร้างหรือพัฒนาอาจารย์กับนักศึกษาให้มีความสามารถในการออกแบบและสร้างดาวเทียมจริงได้ ในด้านการพัฒนาผมในฐานะหัวหน้าโครงการฯ ขอยกเครดิตทั้งหมดให้กับนักศึกษาของเรา เพราะพวกเขาคือคนทำงานหลัก โดยมีอาจารย์ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ ในการพัฒนาโครงการดาวเทียมมีกลุ่มนักศึกษาทุกระดับที่ร่วมอยู่ในโครงการตั้งแต่ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก และมีนักศึกษาจากหลายคณะและภาควิชามาร่วมมือช่วยในการพัฒนา เพราะการสร้างดาวเทียมหนึ่งดวงนั้นต้องใช้ความรู้ในหลายๆ ด้าน ดังนั้น โครงการนี้จึงถือว่า เป็นโครงการวิจัยกึ่งสร้างนวัตกรรมที่มีการบูรณาการความรู้หลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือที่เน้นการบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อใช้สร้างนวัตกรรม” ศ.สุวัฒน์ กุลธนปรีดาเปิดเผย     

                       

อุปสรรค ความท้าทาย เพื่อความสำเร็จ

     การพัฒนาโครงการอุปสรรคปัญหามีมากมาย เนื่องจากงานวิจัยนี้มีความท้าทายที่สูงมาก ทำให้ปัญหาด้านเทคนิคก็เยอะมากตามมา ซึ่งทั้งอาจารย์และนักศึกษาส่วนใหญ่ในโครงการไม่มีประสบการณ์การสร้างดาวเทียมจริงมาก่อน นักศึกษาบางส่วนมีความรู้ที่ได้เรียนมาจากตำราซึ่งก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่การอ่านตำราอย่างเดียวไม่สามารถสร้างดาวเทียมจริงได้แต่ต้องได้ลองลงมือปฏิบัติจริง ๆในระหว่างการดำเนินโครงการ เมื่อเกิดปัญหาได้ดำเนินแก้ปัญหาทุกวิถีทางเท่าที่จะสามารถคิดได้ ตั้งแต่อ่านตำราทุกหน้าเพื่อหาข้อมูลบางอย่าง อ่านบทความวิจัยของคนอื่นๆ ทดลองสร้างเพื่อหาคำตอบ รวมทั้งการสอบถามคนอื่นที่เคยออกแบบและสร้างดาวเทียมมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ นับว่าในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารระยะไกลทำให้ติดต่อกันได้ง่าย ในส่วนของนักศึกษาก็มีการพูดคุย สอบถามกับนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นๆ จากทั่วโลกผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งหลายๆ ครั้งทำให้ได้คำตอบที่น่าสนใจมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้

       นอกจากปัญหาและอุปสรรคทางด้านเทคนิคแล้ว อีกหนึ่งที่อุปสรรคปัญหาที่สร้างความหนักใจในการพัฒนาดาวเทียม ด้วยเหตุที่ทีมเป็นนักวิชาการด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี จึงไม่ค่อยมีประสบการณ์ในเรื่องที่ไม่ใช่ด้านเทคนิค โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขอจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ สำหรับใช้กับดาวเทียม รวมถึงการขออนุญาตต่างๆ ซึ่งเราก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย และจากการที่โครงการฯ ได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส. ทำให้มีอีกหนึ่งช่องทางในการสอบถามและขอคำแนะนำโดยตรงจาก กสทช ได้ง่ายขึ้น

 

ความสำเร็จไม่ใช่สร้างดาวเทียมให้เล็กหรือใหญ่

แต่สร้างแล้วเกิดองค์ความรู้มาต่อยอดอย่างไรเรียกว่า'ความสำเร็จ'

     ที่ผ่านมาประเทศไทยมีดาวเทียมมาทั้งหมดน่าจะ 10 ดวง ดวงแรกคือ ไทยคม 1 ซึ่งถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในปี พ.ศ. 2538 แต่ก็ยังไม่มีดวงไหนที่สร้างในประเทศไทย ดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT) ถือว่าเป็นดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรกที่สร้างและออกแบบโดยคนไทยและสร้างในประเทศไทย สำหรับระยะเวลาการใช้งานดาวเทียมจากผลการคำนวณเบื้องต้น พบว่าดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT) จะโคจรรอบโลกเป็นเวลาประมาณ 7 ปีก่อนที่ระดับความสูงของดาวเทียมจะลดลงโดยธรรมชาติและถูกเผาไหม้ไปในชั้นบรรยากาศในที่สุด และวัสดุอุปกรณ์ภายในดาวเทียมบางชิ้นอาจจะมีอายุการใช้งานไม่ถึง 7 ปี เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบจึงไม่สามารถใช้อุปกรณ์ที่เป็นเกรดใช้เฉพาะในอวกาศซึ่งมีราคาที่สูงได้

     “ความสำเร็จของโครงการไม่ใช่การสร้างดาวเทียมที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ใช่ว่าใช้งานได้นานแค่ไหนหรือถ่ายภาพได้ดีแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าเราสามารถสร้างดาวเทียมให้ไปทำงานในอวกาศได้หรือไม่ ผมมั่นใจว่า ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการพัฒนาและสร้างดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT) นี้ สามารถนำไปต่อยอดสำหรับการสร้างดาวเทียมขนาดที่ใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ แต่แน่นอนที่สุดคือต้องใช้งบประมาณมากขึ้นตามมา”ศ.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา กล่าว

จุดเริ่มต้นเล็กๆ สู่การพัฒนาประเทศ-ลดการซื้อมาสู่การผลิตและใช้เอง

     สำหรับ ประโยชน์และผลลัพธ์จากโครงการฯ เรื่องแรก คือ การพัฒนาบุคคลากรของประเทศให้มีความรู้ในการออกแบบและสร้างดาวเทียมที่ใช้งานได้จริง เพื่อให้ในอนาคตเราจะสามารถสร้างดาวเทียมขึ้นใช้งานได้เอง แทนการซื้อดาวเทียมมาใช้งาน ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณอาจจะมากกว่า 50% หรือถ้าจำเป็นจะต้องซื้อก็จะเป็นผู้ซื้อที่มีความรู้เพียงพอที่สามารถเลือกซื้อหรือต่อรองได้อย่างชาญฉลาด นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้กระตุ้นประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนให้มีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น

     “ประโยชน์ที่จะได้รับในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมฯ และภาคการศึกษา ผมมองว่าอันดับแรกน่าจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในการสร้างอุปกรณ์โทรคมนาคมได้เอง โดยเฉพาะสามารถนำไปใช้งานอวกาศได้ ดาวเทียมแนคแซทใช้คลื่นวิทยุสมัครเล่นในการส่งสัญญาณ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือบุคลากรจากภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมสามารถเข้ามาเรียนรู้และทดลองใช้งานและรับสัญญาณดาวเทียมแนคแซทได้เช่นกัน ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถได้เข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศได้”ศ.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา กล่าว

 

เดินหน้าสู่การพัฒนาคนและขับเคลื่อนสู่ภาคอุตสหากรรม

      ในฐานะผู้วิจัยและพัฒนามีแผนในการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ และภาคอุตสาหกรรม ในส่วนของนักเรียนนักศึกษานั้น เราจะเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้พวกเขานำไปสร้างดาวเทียมดวงต่อๆ ไปได้ ทางด้านภาคอุตสาหกรรมจะต้องมีคุยกันว่าจะนำต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งที่เห็นชัดๆ เช่น การวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนต่างๆ ในเชิงพาณิชย์ที่สำหรับใช้งานบนดาวเทียมหรือในอวกาศได้ อาจจะเป็นเรื่องของวัสดุ อุปกรณ์โทรคมนาคม หรือแม้แต่สายไฟก็เป็นไปได้เช่นกัน

     “ขอฝากให้องค์กร หน่วยงาน ภาคการศึกษาที่มีโครงการและต้องการทุนสามารถนำเสนอโครงการเข้าไปที่ กทปส. ได้ และก็ขอให้ กทปส. สนับสนุนโครงการลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการที่ผลลัพธ์หลักคือ การพัฒนาขีดความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนนักศึกษาไทย และผมอยากเห็นการสร้างดาวเทียมในประเทศไทยเกิดขึ้นอีกหลายๆ ดวง” ศ.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา กล่าวทิ้งท้าย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!