หมวดหมู่: บทความการเงิน

TMB ANALISYS


TMB Analytics คาด กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายปลายปีนี้

      TMB Analytics คาดว่าจากความพร้อมของปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้เกินระดับศักยภาพทำให้เงินเฟ้อเริ่มปรับสูงขึ้น พฤติกรรมการลงทุนที่เปลี่ยนไปลงทุนในสินทรพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อีกทั้งการรักษา policy space เพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคต จะสนับสนุนให้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในช่วงไตรมาสสี่ของปีนี้

         การรักษา policy space เป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงิน ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีและเงินเฟ้อเริ่มขัยบขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะสูงขึ้นในอนาคต ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเริ่มชะลอลงในปีหน้า สงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีความกดดันจากสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่ลดลงจากการนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของธนาคารกลางหลัก

      ในอนาคต การชะลอของเศรษฐกิจโลกอาจฉุดให้เศรษฐกิจไทยชะลอตามไปด้วย ถึงตอนนั้นอาจต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากลดดอกเบี้ยในขณะที่สภาพคล่องในตลาดเงินโลกลดลง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนสั่นคลอนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาจทำให้ไทยต้องเผชิญกับเงินทุนไหลออกรุนแรงและฉับพลัน

       โดยหากไทยไม่มีการสะสม policy space หรือขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในตอนนี้ เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นในอนาคต ธปท. อาจต้องลดดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% หมายความว่าดอกเบี้ยจะลดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 1.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ที่ไทยเคยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายมา อาจยิ่งทำให้เงินทุนไหลออกรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงและเงินสำรองระหว่างประเทศที่คาดว่าจะลดลงจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยที่ขยายตัวช้าลงตามการชะลอของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งการสนับสนุนให้มีการลงทุนภายในประเทศเพิ่มขึ้นทำให้ต้องนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนจำนวนมาก

      หากลองเทียบเคียงกับช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดปรับแผนการขึ้นดอกเบี้ยจาก 3 เป็น 4 ครั้งในปีนี้ และสหรัฐฯออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมกับจีน แม้ไทยไม่ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลและเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง แต่นักลงทุนก็ยังไม่มั่นใจและถอนทุนออกจากตลาดหุ้นและบอนด์ไทยสุทธิกว่า แสนล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 6% จากสิ้นไตรมาสที่ 1

    นอกจากนี้ หากมองในแง่ของคนที่ออมเงินหรือคนที่อยากลงทุน อัตราผลตอบแทนที่ลดต่ำลงและคงอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจลดแรงจูงใจในการออม หรืออาจไปกระตุ้นให้นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยที่นักลงทุนไม่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงดังกล่าวอย่างถี่ถ้วน และอาจทำให้นักลงทุนไทยบางส่วนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เป็นการนำการออมของประเทศไปสนับสนุนการลงทุนของประเทศอื่นแทน

       ยกตัวอย่าง กองทุนรวม FIF (Foreign Investment Fund)ที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด หากนับตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยเริ่มเป็นขาลงในปี 2012 จนถึงสิ้นปัจจุบันมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนถึง 6% ของเศรษฐกิจไทย และยังมีความเสี่ยงจาก “การกระจุกตัวของการลงทุน (Concentration Risk)” ที่นักลงทุนอาจไม่ตระหนักถึง

     ดังนั้น TMB Analytics มองว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเพิ่ม policy space ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีและอัตราเงินเฟ้อกลับเข้ากรอบเป้าหมายแล้ว เพื่อเตรียมรับมือความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตจากเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลง แต่จะเป็นการขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอยู่ที่ระดับ 1.75% และ 2.25% ณ สิ้นปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ

 

SCB EIC คาด กนง.คงดอกเบี้ย 1.50% ตลอดปี 61 มองนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังจำเป็น

    ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อเนื่องในปี 61 จากแนวโน้มค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั้งปีที่จะยังอยู่ในระดับล่างของกรอบเป้าหมาย โดยอีไอซีมองว่าทั้งอัตราการเพิ่มของราคาน้ำมันในกรณีฐานมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี ขณะที่ดัชนีราคาอาหารสดในช่วง 7 เดือนแรกของปีหดตัวราว 0.8%YOY และในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มถูกกดดันจากปริมาณผลผลิตที่ยังสามารถออกสู่ตลาดได้มากตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย

      ด้วยเหตุนี้ อีไอซีจึงมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีจะมีแนวโน้มชะลอลงกลับมาอยู่ใกล้กรอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ทำให้ กนง.ยังจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนให้แรงกดดันราคาด้านอุปสงค์สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ภายในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

       พร้อมมองว่า กนง.น่าจะรอประเมินภาพเศรษฐกิจที่แม้จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มเติมจากสงครามการค้าที่อาจกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวที่อาจต่ำกว่าคาดจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต

       อีไอซี มองว่า จะต้องติดตามการสื่อสารความกังวลของ กนง. ต่อประเด็นปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะมีนัยต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ที่ผ่านมา กนง.ได้แสดงความกังวลต่อปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของ SME ที่ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งแม้ส่วนหนึ่งจะเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะการปรับตัวต่อรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นการเพิ่มภาระการชำระหนี้ขึ้นอีกจึงเป็นเหตุผลในการสนับสนุนให้คงดอกเบี้ยไว้ก่อน แต่ในครั้งนี้ กนง.ได้แสดงความกังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการก่อหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่ลดลงตามที่คาด ซึ่งอาจทำให้ กนง.ต้องพิจารณาว่า จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหรือจะใช้มาตรการอื่นๆ เช่น มาตรการ Macroprudential เพื่อดูแลปัญหาดังกล่าวหรือไม่

       แม้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ-ไทยจะมีแนวโน้มกว้างขึ้นต่อเนื่อง แต่ด้วยเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่เข้มแข็ง จึงทำให้ไทยมีกันชนทางการเงิน (cushion) ช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวได้ จากการที่สหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และไทยมีแนวโน้มกว้างขึ้น จึงทำให้นักลงทุนบางกลุ่มเริ่มมีความกังวลต่อความเสี่ยงที่อาจเกิดเงินทุนไหลออกจากตลาดเงินไทยได้

        อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าด้วยเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลในระดับสูง และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีมากเพียงพอ ทำให้ไทยมีกันชนทางการเงินและเครื่องมือเชิงนโยบายที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวดีก็ยังเป็นแรงดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศในรูป FDI และตลาดหุ้นได้ ดังนั้น แม้อาจจะมีเงินไหลออกไปบ้างเพื่อหาผลตอบแทนจากดอกเบี้ยส่วนต่าง ก็คงไม่มากจนส่งผลกระทบรุนแรงต่อเสถียรภาพการเงินของไทย

       "ประเมินว่า กนง. จะมีความยืดหยุ่นในการพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายให้สอดคล้องเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าปัญหาเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ต่างจากบางประเทศที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองไม่เข้มแข็ง จึงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามสหรัฐฯ" เอกสารเผยแพร่ระบุ

       นอกจากนี้ ยังต้องจับตาประเด็นสงครามทางการค้า การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และปัจจัยความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งจะมีผลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ โดยสงครามการค้าระหว่างประเทศอาจส่งผลต่อแนวโน้มการค้าโลก และการส่งออกไทยได้ สำหรับเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่ภูเก็ต ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง อีไอซีมองว่าจะเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวมอย่างมีนัย นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่ตึงเครียดขึ้น โดยสหรัฐฯ ได้ทำการ sanction สินค้าจากอิหร่านซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบ จึงอาจทำให้มีผลต่อแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกซึ่งอาจสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ จึงเป็นความเสี่ยงให้อัตราเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้

       อนึ่ง วานนี้ (8 ส.ค.) ที่ประชุม กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่มองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ ขณะที่กรรมการ 1 ท่านออกเสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% จากความกังวลด้านเสถียรภาพระบบการเงิน และการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า (policy space)

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!