หมวดหมู่: บทความการเงิน

PwC Boonlert


PwC เผยกลุ่มอุตฯ บริการทางการเงินทั่วโลก ยังล้าหลังในการให้โอกาสผู้หญิงเติบโตในสายอาชีพ

       PwC เผยกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลก ยังคงล้าหลังกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้หญิงสามารถเติบโตในสายอาชีพ โดยผลสำรวจพบ ผู้หญิงในอุตฯ บริการทางการเงินมากกว่าครึ่ง เชื่อว่า ความแตกต่างทางเพศยังเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการทำงาน อีกทั้งกังวลว่า หากใช้สิทธินโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นจะทำให้ตนหมดโอกาสในการเติบโต ด้าน PwC ประเทศไทย มองว่า อุตฯ บริการทางการเงินของไทยให้โอกาสหญิงเก่งมากขึ้น เห็นจากองค์กรขนาดใหญ่หนุนให้ผู้หญิงตบเท้าก้าวขึ้นเป็นผู้นำ พร้อมแนะนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นต้องเน้นสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงาน โดยไม่ปิดกั้นโอกาสความก้าวหน้าในการเติบโตของผู้หญิง

          นาย บุญเลิศ กมลชนกกุล หุ้นส่วน และหัวหน้าสายงาน Clients and Markets บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวถึงผลสำรวจ Seeing Is Believing: clearing the barriers to women’s progress in financial services ได้ทำการสำรวจผู้หญิงทำงานในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลกจำนวน 290 คน ที่มีอายุระหว่าง 28 ถึง 40 ปี ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่ทำการสำรวจผู้หญิงทำงานจำนวนทั้งสิ้น 3,627 คนในทุกอุตสาหกรรมจากทั่วโลกว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน (Financial Services) ยังคงล้าหลังอุตสาหกรรมอื่น ในการสนับสนุนความก้าวหน้าในการทำงานและส่งเสริมให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง

        ทั้งนี้ รายงานระบุว่า 54% ของผู้หญิงทำงานในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน เชื่อว่า ความแตกต่างทางเพศเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในสายอาชีพภายในองค์กร เปรียบเทียบกับผู้หญิงในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นที่ 45% โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (43%) ของผู้หญิงทำงานในอุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลก เคยมีประสบการณ์ในการต้องเผชิญกับคำพูดที่ดูหมิ่น ข่มขู่ และการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม เทียบกับอุตสาหกรรมอื่นโดยเฉลี่ยที่ 34%

        นอกจากนี้ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงความกังวลจากผลกระทบของนโยบายในที่ทำงานที่สนับสนุนผู้หญิงทำงานที่เป็นคุณแม่ว่า โดยเกือบ 60% ของคุณแม่มือใหม่ในอุตฯ นี้เชื่อว่า พวกเขาถูกมองข้าม หรือหมดโอกาสในการที่จะก้าวหน้าในสายอาชีพ หลังจากกลับมาทำงานจากลาคลอด ซึ่งมากกว่าครึ่งยังเชื่อด้วยว่า นโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นในที่ทำงานอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตหากพวกเขาปฏิบัติตาม โดย 52% มองว่า นโยบายดังกล่าวไม่พร้อมใช้ในทางปฏิบัติสำหรับพวกเขา ขณะที่ 51% มองว่า อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออนาคตการทำงาน หากพวกเขาปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว

       แต่อย่างไรก็ดี ผลสำรวจได้แสดงให้เห็นถึงสัญญาณเชิงบวกในการส่งเสริมความก้าวหน้าของผู้หญิงในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน โดยมากกว่า 60% ระบุว่า พวกเขามีการเจรจาต่อรองเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับผู้หญิงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ 48% นอกจากนี้ มากกว่า 80% ของผู้หญิงทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ยังมีความมั่นใจในการเป็นผู้นำ และเชื่อในความสามารถที่จะผลักดันให้ตนเดินไปสู่เป้าหมายในหน้าที่การงานที่วางไว้

       ทั้งนี้ มี 3 ประเด็นสำคัญที่ผู้บริหารต้องพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ได้แก่

                1.             ให้ความสำคัญกับการสร้างความโปร่งใส การสื่อสาร และการสร้างความไว้วางใจ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้หญิงเห็นว่า พวกเขาก็สามารถประสบความสำเร็จในองค์กรได้ และทำให้พวกเขาเข้าใจว่า ตนควรทำอย่างไรจึงจะก้าวหน้าในสายอาชีพ

                2.             ให้การสนับสนุนพนักงานอย่างเต็มที่ในการวางตัวผู้นำในอนาคต และต้องมั่นใจได้ว่า คนเหล่านี้ได้รับประสบการณ์ที่จำเป็นและสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และเครือข่ายที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถของพวกเขา

                3.             สร้างสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมองค์กรที่ช่วยสร้างสมดุลระหว่างเรื่องส่วนตัวและแรงบันดาลในการทำงานให้กับผู้หญิง มากกว่าที่จะมีนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นเพียงอย่างเดียว

        นาย จอน เทอร์รี่ หัวหน้าสายงานที่ปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลของธุรกิจบริการทางการเงินทั่วโลกของ PwC กล่าวว่า “รายงานฉบับนี้ สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงินทั่วโลกกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่สำคัญในการหันมาส่งเสริมความหลากหลากหลายทางเพศอย่างจริงจัง เพราะเวลานี้องค์กรต่างๆ มีพนักงานที่เต็มไปด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ความมั่นใจและทะเยอทะยาน โดยปรารถนาที่จะก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำมากกว่าช่วงอื่นๆ ในอดีต ขณะที่นายจ้างจำนวนมากยังคงไม่ปรับตัวที่จะรับมือกับความท้าทาย หรือดำเนินการเพื่อลดอุปสรรคในเรื่องนี้

        “หากดูเรื่องช่องว่างรายได้ระหว่างชายและหญิงที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมาก เมื่อพนักงานมีอายุประมาณ 20 ปลายๆ แต่ช่องว่างนี้กลับกว้างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพนักงานเข้าสู่อายุ 40 นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่นายจ้างต้องเข้าใจถึงความต้องการและความกังวลของคนกลุ่มนี้ เพื่อให้องค์กรสามารถหาแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี เราควรเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นโอกาสในการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศของอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน โดยมองเป็นโอกาสในการที่เราจะได้เพิ่มความแตกต่างหลากหลายให้กับอุตฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับธุรกิจในระยะยาว เพราะหากปล่อยไป จะกลายเป็นความท้าทายในการรักษาและดึงดูดทาเลนต์ในอนาคต”

        นาย บุญเลิศ กล่าวเสริมว่า “ในส่วนของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินไทยนั้น ผมมองว่า แทบจะไม่มีความเหลื่อมล้ำทางเพศในการทำงานเลยก็ว่าได้ เพราะธุรกิจการเงินหลายแห่ง หรือแม้แต่องค์กรระดับประเทศ ล้วนมีผู้นำองค์กรเป็นผู้หญิง นั่นสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมบริการทางการเงินของเรา รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ เอง ก็ค่อนข้างให้การสนับสนุนผู้หญิงให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ และผลักดันให้ผู้หญิงมีโอกาสในการเป็นผู้นำองค์กรมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันมีผู้หญิงทำงานที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่องค์กรไทยควรให้การสนับสนุนและส่งเสริมไม่แพ้กัน คือ นโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่น เพื่อให้ผู้หญิงสามารถบริหารสมดุลในชีวิตครอบครัวและการทำงานได้อย่างลงตัว เพื่อให้พวกเธอทำงานอย่างมีความสุขและผลงานที่ออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ข้อความถึงบรรณาธิการ

          คลิก เพื่ออ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://www.pwc.com/gx/en/industries/financial-services/publications/clearing-barriers-women-progress-financial-services.html

เกี่ยวกับผลสำรวจ

           รายงาน Seeing Is Believing: clearing the barriers to women’s progress in financial services ได้ทำการสำรวจผู้หญิงทำงานในธุรกิจบริการทางการเงินจำนวน 290 คนทั่วโลก ที่มีอายุระหว่าง 28 ถึง 40 ปี โดยรวบรวมมุมมองเกี่ยวกับความปรารถนาของผู้หญิงว่า พวกเธอรู้สึกอย่างไรกับเป้าหมายในการทำงาน และสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพให้ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่ทำการสำรวจผู้หญิงทำงานในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก จำนวนทั้งสิ้น 3,627 คน โดยช่วงอายุของผู้หญิงที่ทำการสำรวจจะอยู่ในช่วงวัยทำงาน ซึ่งช่องว่างของความก้าวหน้าในงานเริ่มกว้างขึ้นและมีความท้าทายทั้งจากเรื่องส่วนตัวและการทำงาน

เกี่ยวกับ PwC

          ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 236,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 59 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 2,000 คนในประเทศไทย

         PwC refers to the PwC network and/or one or more of its member firms, each of which is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2018 PwC. All rights reserved

         

Click Donate Support Web

468x60 16

BIT FUN728x90

yobit 560 60

8

468x60 bit

468x60 DOG

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!