หมวดหมู่: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ

1aaBanyong1


กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร 'ล่องเจ้าพระยา ใคร่ครวญอนาคตประเทศ'

   จาก 'เจ้าพระยาปริ๊นเซส' สู่ความจริงประเทศและเศรษฐกิจสังคมเมื่อ 'เกียรตินาคินภัทร' วิเคราะห์ 'ล่องเจ้าพระยา ใคร่ครวญอนาคตประเทศ'

     เมื่อค่ำวันพุธ 28 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวบรรยายหัวข้อ'ล่องเจ้าพระยา ใคร่ครวญอนาคตประเทศ'ในขณะที่อยู่บนเรือ'เจ้าพระยาปริ๊นเซส' โดยมีสาระสำคัญดังนี้

       โดยนาย'บรรยง พงษ์พานิช'ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่าประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ได้บอกคนจีนให้อดทนเพราะจีดีพีปีนี้ไม่เกิน 6.5% โดยที่คนจีนมีรายได้ต่อหัวต่อปีคนละ 9,000 เหรียญสหรัฐเทียบกับไทยซึ่งมีรายได้ 6,000 เหรียญต่อคนต่อ แต่ซาร์เศรษฐกิจไทยกลับอกว่าสบายใจได้เลยเพราะเราจะไปถึง 4 %

 

      ทั้งนี้นายบรรยงได้กล่าวอีกว่า ประเทศไทยในทางเศรษฐกิจเราติดกับดักเกือบ 20 ปี ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 แม้แต่ในยุคนายกรัฐมนตรีที่นั่งบริหารประเทศ 5 ปี ไทยเคยได้รับการพูดถึงในฐานะมหัศจรรย์แห่งเอเชีย Miracle of ASIA

     “เศรษฐกิจเราเคยเติบโตปีละ 3% มานานสิบปี มีการอัดสรรพกำลังทุกอย่างแต่โตได้แค่ 4% อะไรคือปัญหา 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เฉพาะอาเซียน ไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในประเทศกำลังพัฒนาเกือบทั้งโลก ถ้าไปในอัตรานี้ ประเทศที่เคยได้ชื่อว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงอย่างพม่า เขมร เวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจโตเกินปีละ 6% เขาอาจล้ำหน้าไทยไป

      ปัญหาประเทศไทยมีอะไร มีมากมายทุกๆ ด้าน ประเทศไทยได้ชื่อว่า Sick man of ASIA เช่น ปัญหาแก่ก่อนรวย คือการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ ที่จะสร้างสรรค์เศรษฐกิจต่อไปในอนาคต ปัญหาคนไทยมีอายุสูงพ้นวัยทำงาน ในขณะที่เป้าหมายประเทศพัฒนาแล้วต้องมีรายได้ต่อคนต่อหัว 12,000 เหรียญ ประเทศไทยมาได้ครึ่งทางแล้ว

      เรามีอัตราเกิด 1.4 ต่อผู้หญิง 1 คน สวีเดนมี 1.9, อังกฤษมี 1.7 เราต้องอยู่กับมัน ทางแก้อาจรับคนเข้ามาอยู่ในประเทศ แต่อย่างที่ทราบคนที่อยากเข้ามามักเป็นคนคุณภาพต่ำกว่าที่ต้องการ ในขณะที่คนทักษะสูงก็พยายามกีดกันไว้”

     ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรกล่าวพร้อมพูดถึงเรื่องการศึกษาของประเทศว่า เรื่องการศึกษา เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าการศึกษาของบ้านเราล้มเหลว ไม่ตอบโจทย์ ไม่สามารถยกระดับบุคลากรให้เพิ่มผลิตภาพโดยรวมของประเทศได้

     “การปฏิรูปการศึกษาวันนี้ กว่าจะเห็นผลต้องรอ 10-20 ปี ในด้านอุปสรรคใหญ่อีกเรื่องคือคอร์รัปชั่น ฝังรากลึกในสังคมไทย ระบาดไปทั่ว เอาทรัพยากรแล้วยังทำให้นโยบายบิดเบือน ในทางวิชาการบอกว่าคนโกง 1 ล้าน จะส่งผลลบต่อทั้งระบบ 10 ล้านหรือสิบเท่า เช่น มีพ่อค้าสามารถ Monopoly จ่ายเงินไปสัก 2-3 พันล้าน ผลประโยชน์ที่เขาจะได้เป็นแสนล้าน มาจากผู้บริโภคทั้งหลาย เป็นศักยภาพการแข่งขันที่โดนบิดเบือน เรามีการปฏิรูปมานานตั้งแต่ทำกลางถนนเมื่อปี 2557 เราจะมีทิศทางไปทางไหน ชวนมองว่า เวลาเราพูดถึงการพัฒนา ซึ่งค่อนข้างพิสูจน์ว่าประเทศพัฒนาแล้วประชากรมีความสุขไปด้วย”

      เขาย้ำว่า หากมองไปประเทศพัฒนาแล้ว จะมีการกระจุกตัวไม่มาก มีทั้งความมั่งคั่งและการกระจาย มี 3 เงื่อนไขที่เขามีคล้ายๆ กัน

               1.เทียบอินเด็กซ์ความร่ำรวย วัดจาก Per capita GDP 20 ประเทศแรกร่ำรวยสุดในโลก

               2.เปิดดูอินเด็กซ์ความเป็นประชาธิปไตย EIU พบว่า 20 ประเทศประชาธิปไตยสูง มีมายาวนาน ซึ่งไม่ได้หมายถึงมีการเลือกตั้ง โดยไทยอยู่อันดับ 60 ปัจจุบันอยู่อันดับ 102 ถ้าไม่เลือกตั้งปีหน้าคงอยู่เหนือเกาหลีเหนือนิดเดียวประชาธิปไตยยังมีองค์ประกอบภาคประชาสังคมเข้มแข็ง มี rule of law

               3.อินเด็กซ์ Corruption perception index อินเด็กซ์ความไม่ (รับสินบน) เป็นอินเด็กซ์ความโปร่งใส

      นายบรรยง กล่าวต่อว่า มาตรการต่างๆ ของไทยไม่ประสบสำเร็จ เช่น ประชานิยมลดความเหลื่อมล้ำ ความพยายามเก็บภาษีผู้มีรายได้มากให้ได้มากขึ้น และตอนนี้มีสองตัวเพิ่งออกมา เช่น ภาษีมรดกออกมาสามปีเก็บได้เกือบสิบล้านบาทภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตอนแรกโดนหนักแต่ของจริงที่ออกมาสบาย เพราะมีวิธีเลี่ยงเยอะแยะไปหมด

      “ในด้านความยั่งยืน เราต้องสามารถพัฒนาเติบโตไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ระยะสั้นไม่ต้องกังวล แต่จะเป็นอย่างยั่งยืน คือเติบโตช้าๆ ไปตลอดหรือเปล่า ประสบการณ์ 40 ปี ดีอย่างหนึ่งของประเทศไทย และไม่มีใครพูดถึง รายละเอียดคือ สิ่งที่เหมาะสมที่สุดของประเทศไทย มีสองคำ คือ neo liberal กับ welfare

      คำว่านีโอลิเบอรอล แนวคิดคือรัฐทำแต่สิ่งที่จำเป็น รัฐปล่อยให้ตลาดทำงานให้มากที่สุด รัฐจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกรณีตลาดล้มเหลว หรือเกิดผลกระทบต่อสิ่งที่เขาปกป้องตัวเองไม่ได้ อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติMarket failure หน้าที่รัฐวางกลไก กฎเกณฑ์ของตลาดให้สมบูรณ์ แต่เมื่อใดที่ตลาดไม่สามารถทำงานได้ เช่น กรณีต้องพัฒนาในพื้นที่เอกชนไม่ทำ รัฐต้องก้าวเข้าไปเกี่ยว มีหลายวิธี เช่น ชดเชย กดดันให้เอกชนทำ และวิธีเลวที่สุดคือรัฐลงไปทำเอง

     เขาบอกว่า คอร์รัปชันนั้นจะลบทันทีไม่ได้ เพราะปีหนึ่งเป็นแสนล้าน มีคนบอกว่าคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในสายเลือดที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย แต่อนาคตต้องกำจัดให้จงได้ ไม่เช่นนั้นประเทศจะไม่มีทางไปสู่อนาคตที่รุ่งโรจน์

      ท้ายที่สุดประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า “วันนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองพรรคไหนที่นำเสนอได้ตรงจุด ถ้ามีผมจะเลือก”

       ด้านดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)ได้กล่าวเสริมในประเด็นของเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ดอกเบี้ย และสงครามการค้า

       โดยประเด็นแรก คือ เรื่องที่น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป จะมีอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรก เราเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะผ่านจุดที่ดีที่สุดไปแล้ว ต้นปีที่แล้วเราพูดถึงการกลับมาเติบโตอย่างพร้อมเพรียงของเศรษฐกิจต่างๆ ในโลก หรือ syncronized recovery หรือ syncronized growth

     “เราเห็นหลายประเทศฟื้นตัวกลับมาพร้อมกัน กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่กลับมาดีพร้อมๆ กัน ผ่านไปไม่นานสักครึ่งปี ตอนนี้เรากลับมาใช้คำว่า syncronized slowdown อีกแล้ว ฉีกตัวออกไปอีกด้านเลยว่าเราเริ่มเห็นเศรษฐกิจเกือบทุกประเทศหมุนช้าลง เติบโตช้าลง

      แล้วปัญหาสำคัญเมื่อเศรษฐกิจหมุนช้าลงคือการค้าโลก และการส่งผ่านข้อดีของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมันทำให้อานิสงส์ของการที่ทุกคนดีพร้อมๆ กันมันเริ่มจะชะลอตัว เราเริ่มเห็นการส่งออกของหลายประเทศแถวเอเชียชะลอพร้อมกันหมด ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เราดูตัวเลขดัชนีผู้จัดการซื้อ หรือ Puchaser Manager Index (PMI) ซึ่งคนส่วนใหญ่ใช้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็เริ่มชะลอพร้อมๆ กัน จากที่เดิมดัชนีเคยเกิน 50 หมดคือทุกประเทศโตพร้อมกัน ตอนนี้ทุกประเทศลงมาใกล้ๆ ปริ่มๆ เติบโตช้า

      “อาจจะเหลือสหรัฐอเมริกาที่เดียวที่วันนี้เศรษฐกิจยังเติบโตพีคอยู่ แต่ว่าตอนนี้คนเริ่มพูดกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะมีแนวโน้มค่อยๆ ชะลอเหมือนกัน วันนี้อาจจะยังเห็นอัตราว่างงานของสหรัฐอเมริกาอยู่ 3.7-3.8% ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1949 ต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ แต่ก็เห็นสัญญาณว่ามันเริ่มอ่อนตัวลง ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวเป็นระยะเวลานานจนอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้องปรับตัวสูงขึ้น อาจจะเห็นผลกระทบตลาดบ้าน ราคาบ้านชะลอลง ดังนั้น เศรษฐกิจมันเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว”

     ส่วนประเด็นที่สอง ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า เริ่มเห็นอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ซึ่งก็แปลกว่าทำไมเรามาเจอดอกเบี้ยขาขึ้นในบรรยากาศที่เศรษฐกิจส่วนใหญ่เริ่มชะลอตัวลง อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังดีอยู่มาก อัตราการว่างงานยังต่ำ เงินเฟ้อเริ่มไต่ขึ้นมา เขาต้องอาศัยโอกาสที่จะเริ่มปรับดอกเบี้ยนโยบายกลับไปภาวะปกติ แต่ปัญหาคือว่าคำว่า “ปกติ” ของเขามันหมายถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกค่อนข้างมากในอีก 12 เดือนข้างหน้า เรากำลังพูดถึงการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ระหว่าง 3-5 ครั้ง คือจะขึ้นอีก 0.75-1.25% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเขาอยู่ที่ 2% กว่าๆ แปลว่าอีก 12 เดือนข้างหน้าถ้าเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์และระบบธนาคารสหรัฐฯ หรือเฟด คาดการณ์ เราจะเห็นดอกเบี้ยระยะสั้นในสกุลดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปอยู่ที่ 3% มากกว่า 2% ตอนนี้

       ที่สำคัญดร.พิพัฒน์บอกว่า อาจจะถามว่าแล้วมันเป็นปัญหาอะไร อย่างแรก มันจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกที่พึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มตึงขึ้นในแง่ของสภาพคล่อง และใครที่กู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมากๆ ต้นทุนการกู้ยืมจะแพงขึ้น

      “เราจะเริ่มเห็นอาการออกว่าความผันผวนของการไหลเข้าออกของเงินทุนเริ่มเป็นประเด็นในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเกิดใหม่ที่มีปัจจัยพื้นฐานไม่ค่อยดีเท่าไหร่ กลายเป็นความเสี่ยงที่ประเทศหลายประเทศเริ่มกังวล ถ้าเราลองเริ่มนึกภาพดูว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟดขึ้นไป 3% กว่า ความน่าสนใจของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐก็จะมากขึ้น

     สมัยก่อนที่ทำคิวอีกันมากๆ สภาพคล่องหลายส่วนมันไหลมาที่ประเทศเกิดใหม่ทั้งหลาย วันนี้คำถามคือมันจะไหลกลับหรือไม่ เป็นความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดความผันผวนของค่าเงินทั้งในแง่ของค่าเงิน สภาพคล่อง ปริมาณเงินที่ไหลอยู่ในระบบ และต้นทุนทางการเงิน

      แต่ว่าอาจจะมีหลายประเทศ เช่น ยุโรปและญี่ปุ่น ที่ยังคงทำคิวอีอยู่ในปัจจุบัน อาจจะเหลือ 2 ประเทศที่ทำอยู่ 2 ประเทศนี้ก็ทำมานานมากแล้ว สหรัฐอเมริกาจะเลิกทำแล้ว เปลี่ยนจากคิวอี หรือ quantitative easing เป็น quantitative tightening แล้ว คือเริ่มลดงบดุลของเฟด แต่ยุโรปยังคงทำและอาจจะต้องทำต่อไปอีกสักพัก ซึ่งก็มีปัญหาอีกว่าเขาก็ไม่สามารถทำไปได้ตลอดเวลา เขาเริ่มประกาศแล้วว่าปลายปีนี้คงต้องเลิก อันนี้คนก็มองข้ามไปว่าดอกเบี้ยจะขึ้นด้วยหรือไม่

        ประเด็นที่สาม คือ เรื่องสงครามการค้าที่จะมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก หลายคนถามว่าตกลงสหรัฐอเมริกาคุยกับจีนรู้เรื่องหรือไม่ วันเสาร์อาทิตย์ที่จะถึงนี้ควรจะติดตามการประชุมที่เรียกว่าคนติดตามมากที่สุดในโลกครั้งหนึ่ง คือการประชุมสุดยอดผู้นำโลก 20 ประเทศ หรือประชุม G20 ที่อาร์เจนตินา ที่ผมว่าปกติคนไม่ค่อยดูเท่าไหร่ แต่ครั้งนี้จะมีคนมาขโมยซีนคือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศเจอกับสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่เป็นมวยรุ่นใหญ่ คนก็คงเลิกดูการประชุมทั่วไป คงมาจับตาดูนัดนี้แทน

      แล้วการที่สหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน จริงๆแล้วมันเป็นยุทธศาสตร์หรือคุยกันใน 3 เรื่องใหญ่ อันแรกมันคือเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เพราะการขึ้นภาษีทำให้ของที่ผลิตในอีกประเทศหนึ่งและนำเข้ากลับมาในประเทศแพงขึ้น ทำให้ความน่าสนใจของการผลิตในประเทศนั้นคือจีนน้อยลง โดยจุดมุ่งหมายเขาคือว่าใครก็ตามที่ผลิตอะไรก็ตามอยู่ในจีนต้องย้ายฐานการผลิตกลับมาสหรัฐอเมริกา เพื่อ Make America Great Again อันนี้เป็นประเด็นเรื่องของเศรษฐกิจ ถ้าเราดูสหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากับจีนปีละ 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐอเมริกานำเข้าจากจีนปีละ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนนำเข้าเพียงแค่ 100,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเอง ดังนั้น สหรัฐอเมริกามองว่าการขาดดุลการค้ามากๆ เป็นประเด็นว่าเขาเสียหายทางเศรษฐกิจ

       อันที่ 2 มันมีแง่มุมอื่นอย่างปัญหาการเมืองที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งมา ส่วนหนึ่งเพราะว่าเขาชูปัญหาตรงนี้ แล้วยิ่งด่าจีนเท่าไหร่ความนิยมมันก็ขึ้นเท่านั้น แต่คนลืมไปว่ามันมีต้นทุนเกิดขึ้น คือความจริงที่ว่าเขาต้องจ่ายเงินมากขึ้น ความจริงว่าความสามารถในการแข่งขันจะน้อยลง หลายที่เริ่มบอกว่าถ้าจะทะเลาะกันนานๆ เขาจะเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐอเมริกาด้วย เพราะถ้าเขาจะเอาไปขายที่อื่น ตลาดจีนก็ไม่ได้เล็ก

      ประเด็นที่เป็นปัญหาทุกวันนี้และอาจจะเกิดขึ้นไปข้างหน้าด้วยคือความตึงเครียดที่จะเปลี่ยนจากสงครามการค้าเป็นสงครามเย็น คือไม่ได้รบกันซะทีเดียวแต่มีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปัญหาอันสุดท้ายที่ทำให้โครงสร้างห่วงโซ่การผลิตของทั้งโลกอาจจะถูกปั่นป่วนไปได้ วันนี้ทุกคนตั้งโรงงานในจีนแล้วส่งออกไปสหรัฐอเมริกา วันนี้ต้องคิดหนักแล้วว่าจะทำอย่างไรกับโรงงานดี จะส่งกลับมาก็ไม่ได้ถ้าโดนภาษี แต่จะย้ายโรงงานก็ไม่รู้ ถ้าเกิดวันเสาร์นี้คุยกันรู้เรื่อง ยกเลิกหมด แล้วจะย้ายไปทำไม

               วันนี้ คำว่าความไม่แน่นอนทำให้การตัดสินใจต่างๆ มันคิดลำบาก มันก็กระทบกันหมดเป็นลูกโซ่ และหลายคนคิดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ค่อนข้างสำคัญกับเศรษฐกิจโลก แล้วยิ่งทะเลาะกันหนักขึ้น มูลค่าการค้าหายไป ยิ่งทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกวางแผนได้ยากขึ้น การเติบโตต่างๆ คนก็คาดการณ์ได้ยากลำบากมากขึ้น เหล่านี้เป็น 3 ประเด็นข้างนอกประเทศที่ต้องจับตาดู นอกเหนือไปจากประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่เราต้องติดตามกันตลอด ไม่ว่าจะเรื่องเกาหลีเหนือจะเลิกทำนิวเคลียร์หรือไม่ ปีหน้ากลับมาอีกหรือไม่ หรือทางซาอุดีอาระเบียจะทำอะไรกับเรื่องราคาน้ำมันอีกหรือไม่ อาจจะมีเรื่องการเมืองอย่างการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ก็อาจจะมีผลกระทบได้ค่อนข้างมาก

               จากนั้นดร.พิพัฒน์ได้กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยจะเป็นอย่างไร โดยมองว่าหลังจากครึ่งปีแรกที่เติบโตได้ 4.8% แล้วในไตรมาสแรกที่โตไป 4.9% เป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดในรอบหลายปีหลังจากติดหล่มทางเศรษฐกิจมา ไตรมาส 3 ของปี 2561 เหลือ 3.3% ทำให้ 9 เดือนแรกเติบโตได้ 4.3% ทั้งปีที่เหลือก็มองว่าจะเติบโตได้ 4% ต้นๆ แต่เราเชื่อว่าโมเมนตัมกำลังจะบอกเราว่าเศรษฐกิจปีหน้าน่าจะเติบโตช้าลง แต่อาจจะยังไม่ใช่การถดถอยทางเศรษฐกิจขนาดนั้น

               “ทำไม เราคิดว่ามันจะเติบโตช้าลง เพราะว่าเครื่องยนต์ในการเติบโต หรืออะไรที่เป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในปีนี้มันเริ่มหายไป ต้นปีเรามีคำใหญ่ที่ใช้คือแข็งนอกอ่อนใน คือการเติบโตมาจากภายนอกหมดเลย ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่ภายในยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ตอนต้นปีก็มีคำว่าแข็งบนอ่อนล่าง คือเราเริ่มเห็นการฟื้นตัว แต่ฟื้นตัวของคนกลุ่มบนเป็นการบริโภคสินค้าคงทนอย่างรถยนต์ ส่วนการบริโภคสินค้าไม่คงทน อาหารเครื่องดื่มทั่วไปไม่ค่อยเติบโต ติดลบอีกต่างหาก บ่งบอกปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจจะมีอยู่ เรายังเห็นประเด็นพวกราคาสินค้าเกษตร การบริโภคของต่างจังหวัด ที่บอกว่าเคยดีกว่านี้ มันดีขึ้นแต่ไม่ได้ดีขนาดนั้น

      พอมาดูไตรมาส 3 เราก็เห็นว่า ที่พูดมาทั้งหมด เครื่องยนต์การเติบโตอย่างการส่งออกและท่องเที่ยวแค่ชะลอและติดลบไปแค่เดือนกันยายนเดือนเดียว เราเห็นจีดีพีชะลอลงมาเร็วมาก ปัญหาคือว่า contribution to growth หรือสิ่งที่การส่งออกและท่องเที่ยวดันจีดีพีให้เติบโตมันเป็นสัดส่วนค่อนข้างใหญ่ ลองนึกภาพของการท่องเที่ยววันนี้คิดเป็นสัดส่วน 15% ของจีดีพีทั้งหมด ที่ผ่านมาเติบโต 10% ถ้าคูณเอาง่ายๆ คือว่าถ้าการท่องเที่ยวไม่เติบโตเลย จีดีพีจะหายไปประมาณ 1% กว่าๆ นั่นคือสิ่งเราเห็นชัดเจนในไตรมาสที่ 3 เลย คือการท่องเที่ยวหยุดเติบโตแล้วจีดีพีจากที่เคยเติบโต 4% กว่ามาเหลือ 3% กว่า

    การส่งออกเหมือนกัน คิดเป็นประมาณ 70% ของจีดีพี ถ้าหักการนำเข้าไปสักครึ่งหนึ่งแสดงกว่ามีความสำคัญ 20-30% ของจีดีพี แล้วเติบโตปีที่แล้วประมาณ 8-9% แต่ปีหน้าด้วยเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า เราเชื่อว่าคงไม่ได้เห็น 8-10% อย่างที่เคยเห็น อาจจะลดลงมา 5-6% แต่สังเกตว่าเครื่องยนต์ต่างๆ มันเติบโตช้าลง ดังนั้น ความสำคัญของการท่องเที่ยวและการส่งออกมีความสำคัญค่อนข้างมาก

     คำถามที่จะเป็นภาระของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคือว่าใครจะมาเป็นเครื่องยนต์ใหม่ที่จะมาดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมากขึ้นอย่างที่เห็นในปีนี้ คำตอบตอนนี้ก็ยังหาไม่ค่อยเจอ อย่างการบริโภคภายในประเทศ ตอนนี้เติบโตจาก 3% กว่าเป็น 5% ในไตรมาสล่าสุด แต่ถ้าดูไส้ใน 1% กว่าของการบริโภคมาจากการขายรถยนต์อย่างเดียว ไตรมาสที่สามเติบโตไป 18% เทียบกับปีก่อนหน้า ไม่รู้ว่าใครซื้อไปเหมือนกันนะ แต่ว่าเติบโตไปขนาดนั้น เราก็เห็นเป็นวัฏจักรที่ค่อนข้างยาวนาน เพราะมันติดลบมาตลอดหลายปี เพิ่งจะมาฟื้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แล้วฟื้นค่อนข้างเร็ว แต่อาจจะมีประเด็นว่ายอดขายลงบัญชีไปแล้วมันถึงมือคนซื้อหรือไม่ ก็ต้องติดตามดูต่อไป ปัญหาคือเราก็ไม่เชื่อว่ายอดขายรถยนต์มันจะเติบโตได้แบบนี้ไปเรื่อยๆ ดังนั้น เครื่องยนต์นี้ก็อาจจะอ่อนตัวลงไปอีกเหมือนกัน

      มันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เรามองว่าจีดีพี 4% ในปีนี้จะลดลงเหลือ 3% ปลายๆ ในปีหน้า ซึ่งเข้าใกล้กับสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าเป็นศักยภาพของไทยที่ไม่น่าจะใช่ 4% อีกแล้ว เราก็เชื่อว่าน่าจะเป็นการอ่อนตัวลงไปแบบนั้น ภาพรวมอาจจะไม่ได้แย่มาก แต่คงแย่กว่าปีนี้ หลายคนก็บอกว่าปีนี้ดีแล้วหรือ เศรษฐกิจยังไม่ดีเลยปีนี้

     “ถามว่า ปัจัยเสี่ยง คืออะไร ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาดูมากเลยคือเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่แย่ต่อเนื่อง แม้ว่าเราเห็นรายได้เกษตรกรเป็นบวก แต่เป็นเพราะปริมาณการผลิตมันเพิ่ม แต่ราคามันลดลงต่อเนื่องหลายเดือนติดต่อกัน เราก็เห็นคนออกมาบ่นมากขึ้น ราคายางพารา ราคามันสำปะหลัง ราคาอ้อย ทำให้การบริโภคต่างจังหวัดอาจจะไม่ได้หวือหวามาก และอาจจะทำให้ฐานการบริโภคของไทยไม่ได้รู้สึกดีขึ้น เพราะว่าการกระจุกตัวของการฟื้นตัวมันอยู่แค่บางกลุ่ม

       ประเด็นที่สอง ที่เป็นความเสี่ยงของไทยคือเศรษฐกิจภายนอก ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอมากกว่าที่คิด ถ้าเกิดส่งออกแย่กว่าที่คาด ถ้านักท่องเที่ยวไม่มา แล้วสิ่งที่ต้องติดตามมากๆ คือจีน ถ้าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงไป ท่องเที่ยวที่เราเห็นอาจจะแย่ไปมากกว่านี้หรือไม่ หรือมีปัญหาอะไรต้องลดค่าเงินหยวน ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร หรือถ้าเขามีปัญหามากๆ จนเริ่มแตะเบรกไม่ให้คนออกมาท่องเที่ยว เพราะวันนี้เงินที่ไหลออกของจีนก้อนใหญ่สุดอันหนึ่งคือเอามาท่องเที่ยว ถ้าเกิดเขาเริ่มหยุดตรงนั้นก็อาจจะมากระทบเราเหมือนกัน

     ประเด็นที่สาม คือ การเมืองของไทย ว่าจะเปลี่ยนผ่านได้สงบเรียบร้อยหรือไม่ ความมั่นใจเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการลงทุนของเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นได้หรือไม่

        ส่วนปัจจัยด้านบวกของไทยคืออะไร เราอาจจะพูดถึงการลงทุนว่ามาแน่ๆ การเลือกตั้งจะมาแล้ว อีอีซี จะเดินหน้าแล้ว แต่ต้องระวังว่าการลงทุนอย่างอีอีซีอาจจะยังไม่เห็นเม็ดเงินจนกระทั้ง 1-2 ปีข้างหน้า กว่าจะเริ่มประมูลได้ เริ่มทำอะไรได้ การลงทุนตอกเข็มจริงๆ เงินที่ลงทุนกว่าจะเข้าเศรษฐกิจอาจจะอีกนาน วันนี้ก็มีคนถามว่าเวลามีสงครามการค้ามันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อเสียคือเราอาจจะไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตที่ถูกปั่นป่วน แต่มันก็มีสิ่งที่เรียกว่า trade diversion คือการที่เขาไม่ค้าขายกันก็หันมาค้าขายกับเราแทนก็ได้ และมันก็มีผลกระทบทางลบที่ไทยอาจจะถูกทุ่มตลาดด้วยราคาลงมา เพราะเขาขายกันไม่ได้ก็เอาสินค้ามาระบายที่ไทย

      อีกอันที่คนตั้งหน้าตั้งตารอ คือการจัดสรรทรัพยากรหรือการตั้งโรงงานใหม่ คือถามว่าถ้าสหรัฐอเมริกาไม่นำเข้าสินค้าจีน นักลงทุนไต้หวัน สหรัฐอเมริกา หรือจีนเองที่มีโรงงานในจีนแล้วส่งไปขาย มีสิทธิหรือไม่จะย้ายมาที่อาเซียนมาไทยที่ต้นทุนการผลิตถูกกว่าและอาจจะไม่โดนภาษีจากสหรัฐอเมริกา เราก็รอดูตัวเลขอยู่ แต่พอความไม่แน่นอนมันสูง คนก็ไม่กล้าตัดสินใจ คนที่ย้ายอาจจะเป็นกลุ่มที่มีโรงงานอยู่แล้วทั้ง 2 ที่แล้วย้ายการผลิตหรือเพิ่มประเภทการผลิตเข้ามา แต่เราก็ยังไม่เห็นตัวเลขชัดเจน ซึ่งมันอาจจะเป็นโอกาสได้ถ้าเรามีความน่าสนใจจริงๆ แต่คนก็เริ่มบอกอีกว่าเวียดนามจะน่าสนใจมากกว่าหรือไม่ หรือไทยจะสามารถจะไปผลิตทดแทนจีนได้หรือไม่

               นอกจากนี้ ดร.พิพัฒน์ยังกล่าวต่อไปถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ยของไทยว่าคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทำอย่างไร เพราะสหรัฐอเมริกาคาดว่าจะขึ้นอีก 3-5 ครั้ง แต่เมืองไทยเราเชื่อว่าด้วยการเติบโตที่อาจจะไม่ได้ดีมาก อ่อนตัวลงมา เงินเฟ้อที่แทบจะไม่ได้มี ตอนนี้อยู่ที่ 1% เท่านั้น เราก็เชื่อว่าโอกาสที่ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยอาจจะมีไม่มาก ถ้าอ่านรายงานการประชุมจะเห็นว่าความเสี่ยงมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผลออกมาคงดอกเบี้ย 4 ต่อ 3 ก็อาจจะงงๆ ว่าจะขึ้นหรือไม่

       “แต่เรื่องหนึ่งคือ กนง. กังวลเรื่องของเสถียรภาพการเงินค่อนข้างมาก แสดงความกังวลมาตลอด เราจึงเชื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่การเติบโตของเศรษฐกิจยังพอไปได้ คือดีกว่าสิ่งที่ กนง. เชื่อว่าเป็นศักยภาพของไทย คืออยู่แถวๆ 3.5-4% ไม่ได้แย่มาก กนง. ก็น่าจะอยากขึ้นดอกเบี้ย เราเชื่อว่ามีโอกาสค่อนข้างมากที่การประชุมครั้งสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคมจะขึ้นดอกเบี้ยและในปีหน้าอาจจะมีโอกาสขึ้นอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะมีส่วนต่างดอกเบี้ยค่อนข้างมาก และมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายได้มาก

       ทั้งนี้ ดร.พิพัฒน์ต่อไปว่าประเทศไทยจะไปทางไหน โดยย้ำว่ามีอยู่ 2 เรื่องเรื่องแรกคือ ภาวะประชากรที่จะลดลงในอนาคต ดังนั้นการเติบโตของทั้งประเทศก็เติบโตไม่ได้ ถ้าเรามองประเทศเป็นเครื่องจักรเครื่องหนึ่งที่ใส่วัตถุดิบเข้าไปคือแรงงานกับทุน เครื่องจักรนี้จะมีวัตถุดิบน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะจากวันนี้ประชากรวัยทำงานเราจะลดลง ไม่ใช่เติบโตช้าด้วย ดังนั้น ถ้าเราทำงานไปแบบเดิม ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์แบบเดิม การเติบโตก็จะแย่ลงไปเรื่อยๆ เหมือนที่เราเห็นว่าเราเคยเติบโตจาก 7% มาเหลือ 5% มาเหลือ 3% ส่วนหนึ่งเพราะวัตถุดิบที่ใส่ไปน้อยลง แล้วที่ใส่ลงไปก็มีปัญหาด้านคุณภาพอีก แล้วเราจะทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้ ก็ต้องลดบทบาทของรัฐ และทำให้การใช้ทรัพยากรมีคุณค่ามีประโยชน์มากขึ้น

      ประเด็นที่สองที่เป็นความท้าทายของเศรษฐกิจไทย คือ เรื่องเทคโนโลยี เรากำลังเข้าสู่บรรยากาศที่เศรษฐกิจทั่วโลกพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งรูปแบบธุรกิจและรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่คำถามคือเรามีทรัพยากร เรามีความพร้อมในแง่ของสถาบัน ในแง่ของคุณภาพของคน เพียงพอหรือไม่ ก็ต้องทิ้งเอาไว้เป็นประเด็นที่บอกว่าเป็นความท้าทายที่หนักอยู่ในประเทศไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!