หมวดหมู่: การแพทย์-สธ

09012 มหดล สวทช


 

ม.มหิดล - สวทช. EECi ผนึกกำลัง ขับเคลื่อนแผนแม่บทอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์

เผยแนวคิด ‘ศาลายา สตาร์ทอัพ ทาวน์’...หนุนเฮลท์เทคไทยสู่เวทีโลก

หนุนประเทศไทยก้าวสู่เมดิคัลฮับ (Medical Hub) และตลาดโลก มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนาม MOA ความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ผนึกกำลังขับเคลื่อนแผนแม่บท EECi ด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของประเทศไทย มหิดลเผยแนวคิดพัฒนาโครงการ ศาลายา สตาร์ทอัพ ทาวน์ ให้เป็นเมืองแห่งสตาร์ทอัพเฮลท์เทคและเฮลท์แคร์ เชื่อมโยง EECi ทั้งรองรับระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา และการขยายตัวของศาลายา

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า EECi มุ่งสร้างนวัตกรรมและเป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำนวัตกรรมเข้าไปผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (New S-Curve) สู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รองรับสังคมสูงวัยที่กำลังมาถึง และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ประเทศ เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพกว้างไกล มูลค่า Health Tech ในตลาดโลก ปี 2020 คาดว่าจะสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกและนำเข้า ปีละกว่า 1.6 แสนล้านบาท ตลอดจนธุรกิจ HealthCare ในประเทศไทยสำหรับขาวต่างชาติ มีมูลค่า ประมาณ 1 แสนล้านบาท ดังนั้น สวทช. จึงได้ลงนามความร่วมมือบันทึกข้อตกลงการพัฒนาและขับเคลื่อนแผนแม่บท EECi ด้านอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่า มหาวิทยาลัยมหิดล มีศักยภาพองค์ความรู้ด้านการแพทย์ สุขภาพและสาธารณสุข ผลิตบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญและมีความพร้อมที่จะเป็น Lead Partner ผู้นำหลักเสริมทัพความแข็งแกร่งของเครือข่ายอุตสาหกรรมและซัพพลายเชน Health Tech และ HealthCare ของไทยให้เติบโตก้าวหน้า เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาคนและสตาร์ทอัพในสายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพ การวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งสู่การเป็น World-Class University ส่งเสริมการศึกษายุคใหม่ด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เตรียมความพร้อมของคนรุ่นใหม่และบุคคลากรในอุตสาหกรรมการแพทย์-สุขภาพ สู่สังคมฐานนวัตกรรม โดยทำงานร่วมกับคณะแพทยศาสตร์หลายแห่งและเครือข่ายอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด ในขอบเขตข้อตกลง MOA ระยะเวลา 5 ปี ทั้งสองฝ่าย จะจัดทำโรดแมพของ EECi ระยะ 10 ปี การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย คาดว่าจะเสร็จใน 6-8 เดือน โดยครอบคลุมรูปแบบการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนากำลังคนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ทั้งของ EECi และที่เกี่ยวเนื่อง สนับสนุนการพัฒนาโดยเชื่อมโยงผู้ผลิตนวัตกรรมและผู้ใช้นวัตกรรมทั้งในและข้ามห่วงโซ่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ทั้งจากภายในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยจัดกิจกรรมเชื่อมต่อและสร้างกลไกกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและนำเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์ ตลอดจนขยายผลต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดล มี 17 คณะ 6 วิทยาลัย 8 สถาบัน 5 โรงพยาบาล 2 โรงพยาบาลทันตกรรม และ 2 โรงพยาบาลสัตว์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการที่ก้าวล้ำทันสมัยของคณะต่างๆ พร้อมด้วยโครงการ ศาลายา สตาร์ทอัพ ทาวน์ (Salaya Startup Town) เมืองแห่งสตาร์ทอัพเฮลท์เทคและเฮลท์แคร์ ที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าทันสมัยในอนาคต

ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา มีระยะทาง 14.8 ก.ม. ในวงเงินลงทุนกว่า 19,000 ล้านบาท กำหนดจะแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2565 นั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาใช้ประโยชน์ที่ดินพื้นที่โดยรอบของสถานีศาลายารองรับการเจริญเติบโตของเมือง รูปแบบสถานีมี 3 แพลทฟอร์ม รวมทั้งการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบรางและแนวทางการส่งเสริมการเดินทางเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะสำหรับทุกวัย ซึ่งการรถไฟจะมีการออกแบบพัฒนาฟื้นฟูเมือง ระบบสาธารณูปโภค การปรับปรุงโครงข่ายถนน ทางเข้าสถานี โครงข่ายทางเดินและทางจักรยานที่จอดรถ คาดว่าจะมีผู้ใช้สถานีศาลายาวันละ 35,000 คน ในด้านโครงการศาลายา สตาร์ทอัพ ทาวน์ (Salaya Startup Town) มหาวิทยาลัยมหิดล มีแนวคิดเมืองสตาร์ทอัพแห่งเฮลท์เทคและเฮลท์แคร์ ประกอบด้วยระบบนิเวศน์และบริการแก่นักวิจัยและธุรกิจอุตสาหกรรม เช่น 1.Innogineer Studio เวิร์คช็อปที่ครบครันเครื่องมือไฮเทคสำหรับเอสเอ็มอีและเมคเกอร์เข้ามาทำโปรเจคต่างๆ สร้างชิ้นงานและต้นแบบจากความคิดสร้างสรรค์ 2.Innogineer BAY ศูนย์ฝึกหัดด้านหุ่นยนต์และระบบ AI ที่ทันสมัยระดับโลก 3.Innovation Service Center ศูนย์บริการนวัตกรรมแก่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม กำหนดเปิดในเดือน กันยายน 2562 4.ศูนย์นวัตกรรมสังคมสูงวัยและ Smart Home 5.ห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัยที่ชำนาญด้านต่างๆ ของม.มหิดล 6.ศูนย์ LogHealth บริการระบบโลจิสติกส์โรงพยาบาล และจัดทำแผนแม่บท HealthCare Logistics Big Data ของประเทศอีกด้วย 

7.ศูนย์ทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ กำหนดเปิดปลายปี 2562 จะช่วยปลดล๊อคการผลิตนวัตกรรมได้มากขึ้น โดยประหยัดเวลาและประหยัดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายในการยื่นขอรับการรับรองในต่างประเทศซึ่งสูงมาก 8.ศูนย์หุ่นยนต์การแพทย์ระดับสูง มูลค่าลงทุนรวม 1,200 ล้านบาท กำหนดเปิดเฟสแรกในปี 2563 และเฟสสองในปี 2564 และ 9.UNTIL Thailand ศูนย์ปฏิบัติการนวัตกรรมโดยสหประชาชาติจะเปิดเป็นแห่งที่ 5 ของโลก ในปลายปี 2562 

รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แนวโน้มการวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีด้านสุขภาพและชีวการแพทย์ก้าวไปอย่างรวดเร็ว AI Deep Tech จะเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการใช้งานด้านการตรวจวินิจฉัย ฟื้นฟูและบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ เช่น หุ่นยนต์ผ่าตัด เทคโนโลยีที่ใช้คลื่นสมอง สตาร์ทอัพในหลายประเทศต่างคิดค้นนวัตกรรมสุขภาพไร้สาย (Wireless Health) และอุปกรณ์สุขภาพเคลื่อนที่ (Mobile Health) ในยุคที่การสื่อสาร 5G ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงด้วยประสิทธิภาพใหม่ จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการแพทย์กับโลกอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น IoMT (Internet of Medical Things) ที่เห็นได้ชัดคือ อุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Devices) ซึ่งมีแนวโน้มได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง 

 

AO09012

3

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!