หมวดหมู่: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ

TMBอมรเทพ


สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ขยับมุมมองจีดีพีปี 60 เผยเศรษฐกิจดี แต่คนรัดเข็มขัด ประหยัด ฉุดเงินหมุนเวียนในระบบ

       นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2560 จาก 3.2% เป็น 3.7% และจาก 3.5% เป็น 3.8% ในปี 2561 เนื่องจากรายงานล่าสุดของสภาพัฒน์ฯ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ออกมาดีเกินคาด โดยขยายตัว 3.7% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และขยายตัว 1.3% เทียบไตรมาส 1 ซึ่งเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ขยายตัว 3.3% สำนักวิจัยฯจึงได้ขยับประมาณการจีดีพีให้สูงขึ้น

       “ประเด็นที่ได้ยินบ่อยช่วงนี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจดี แต่ทำไมคนถึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี สำนักวิจัยหลายแห่งปรับประมาณการขึ้น แต่คนกลับบ่นว่ายอดขายไม่ดี กำไรหดตัว เงินเฟ้อต่ำแต่ทำไมต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคค้าปลีกโตต่ำกว่าภาคอื่น และความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง การที่คนรู้สึกสวนทางกับรายงานเศรษฐกิจนั่นเพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรอบนี้กระจุกตัวในคนบางกลุ่ม การเชื่อมโยงของคนมีรายได้ดีไปสู่คนรายได้ไม่ขยับขึ้นนั้นมีน้อยลง” นายอมรเทพ กล่าว

               นายอมรเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจรอบนี้ฟื้นตัวที่ภาคท่องเที่ยวและส่งออก แต่ไม่ใช่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาขึ้นตามราคาน้ำมัน ผู้ได้ประโยชน์คือคนที่มีรายได้จากภาคเกษตร ทั้งราคาพืชผลดีและผลผลิตมากขึ้นกว่าปีก่อนที่มีภัยแล้ง ยกเว้นกลุ่มชาวนาเพราะราคายังต่ำ ส่วนคนที่มีรายได้นอกภาคเกษตร รายได้กลับไม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนทำงานภาคการผลิต ก่อสร้าง สอดรับกับการลงทุนที่กลับมาขยายตัวแต่ยังขยายตัวต่ำ จำกัดเพียงบางอุตสาหกรรม และหลายอุตสาหกรรมมีอุปทานส่วนเกิน ด้านภาคบริการเองก็ขยายตัวต่ำเช่นกัน ยกเว้นร้านอาหาร โรงแรม และขนส่งที่ได้ประโยชน์จากท่องเที่ยว

       ขณะเดียวกัน การเชื่อมโยงของคนมีรายได้ดีไปสู่คนที่รายได้ไม่ดีนั้นมีน้อยลง แตกต่างจากในอดีตคนได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะใช้จ่ายก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน เช่น คนที่มีรายได้จากภาคเกษตรที่ดีจะจับจ่ายใช้สอยทำให้ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมซึ่งก็คือคนรายได้ระดับกลางในเมืองได้ประโยชน์ มารอบนี้คนไม่ใช้จ่าย สำนักวิจัยฯสันนิษฐานว่า คนมีรายได้น้อยในภาคเกษตรนำเงินไปใช้หนี้ก่อน และเก็บเงินไว้ใช้ช่วงฉุกเฉินยามเกิดภัยแล้ง น้ำท่วม หรือราคาพืชผลตกต่ำ เมื่อคนกลุ่มนี้ชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้คนรายได้ระดับกลางในเมืองมีรายได้ทรงตัวหรือลดลง แม้ในกลุ่มคนที่รายได้ไม่เปลี่ยนแปลงแต่ก็เกิดความไม่มั่นใจที่จะใช้จ่าย เกิดการระวังตัวและรัดเข็มขัด พฤติกรรมที่เปลี่ยนนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่หมุนเช่นในอดีต  

      นอกจากการเชื่อมโยงระหว่างคน กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กก็เชื่อมโยงกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้น้อยลงด้วย ดังเห็นได้ว่ากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มีรายได้และกำไรที่ขยายตัว ต่างกับกลุ่ม SMEs ที่ยอดขายไม่ดี กำไรหดตัว นั่นเพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีโอกาสเชื่อมโยงกับภาคต่างประเทศได้มากกว่ากลุ่ม SMEs โดยเฉพาะภาคบริการและการส่งออก ขณะที่ SMEs เชื่อมโยงกับคนที่มีรายได้ระดับกลางล่างถึงล่าง ซึ่งรัดเข็มขัดและระวังการใช้จ่าย เงินจึงไม่ได้หมุนเข้าหากลุ่ม SMEs มากนัก นอกจากนี้ การแข่งขันที่รุนแรงในตลาด ทำให้การผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นให้กับผู้บริโภคไม่สามารถทำได้มากนัก หรือ SMEs เลือกที่จะลดราคาเพื่อแย่งลูกค้าจากคู่แข่งแทน

     “พฤติกรรมคนสำคัญกับเศรษฐกิจ เมื่อเกิดความไม่เชื่อมั่น คนจะตัดรายจ่ายไม่จำเป็น ออมเงินให้มากขึ้น เพราะไม่แน่ใจกับรายได้ในอนาคต หรือนำไปใช้หนี้ทั้งในและนอกระบบเพื่อลดภาระดอกเบี้ย ก็เป็นที่มาว่าทำไมการบริโภคและการลงทุนในประเทศอ่อนแอ แม้เศรษฐกิจจะขยายตัว หากพิจารณาการประหยัด แม้เป็นเรื่องดีที่ควรส่งเสริมกันในระดับจุลภาค แต่หากทุกคนประหยัดพร้อมกันในระดับมหภาคแล้ว เศรษฐกิจก็เกิดภาวะหยุดชะงัก หรือเงินไม่หมุน ยอดขายลดลง การผลิตก็ชะลอออกไป ในช่วงที่ผ่านมาผมลองเดินสำรวจตลาด ถามพ่อค้าแม่ค้าว่าขายดีไหม กลับได้รับคำตอบจากแม่ค้าขายถั่วต้มว่าขายไม่ดีเพราะคนประหยัด แม้คนที่เดินส่วนมากจะเป็นมนุษย์เงินเดือนรายได้มั่นคง แต่พวกเขาก็ยังลดการซื้อสินค้าที่มีราคาถูก จึงไม่น่าสงสัยว่าคนที่น่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจรอบนี้น่าจะเป็นคนทำงานนอกระบบที่มีจำนวนมากในประเทศ” นายอมรเทพ กล่าว

      สำหรับ วิธีแก้ปัญหาหรือเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนกล้าใช้จ่ายนั้น น่าจะทำได้ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตยังดูดี แต่ไม่ใช่แค่พูดหรือสร้างภาพ ต้องมีมาตรการให้คนเชื่อมั่น ซึ่งการลดหย่อนภาษีเพื่อการลงทุน หรือการลดดอกเบี้ยเพื่อให้คนใช้จ่ายและลดต้นทุนทางการเงินนั้นอาจไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ เพราะสิ่งที่นักลงทุนและผู้บริโภคต้องการคือทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต ในการตอบคำถามว่า ยอดขายจะดีไหม การส่งออกจะโตต่อเนื่องหรือไม่ ซึ่งนับว่าเกินการควบคุมบริหารของรัฐบาลหรือใครก็ตามที่ดูแลเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นปัจจัยต่างประเทศที่ควบคุมยาก แต่สิ่งที่ทำได้ คือการใช้กลไกรัฐวิสาหกิจหรือภาครัฐในการเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือโครงการขนาดใหญ่ เพราะหากรัฐยังไม่เดินหน้า เอกชนก็ลังเลที่จะเดินตาม การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจึงเป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้  

     นายอมรเทพ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และทั้งปี 60 ยังคงไม่แตกต่างจากช่วงที่ผ่านมา คือการส่งออกและการท่องเที่ยวนำ การลงทุนภาครัฐน่าจะกลับมาขยายตัวหลังมีการอนุมัติโครงการใหม่ๆ แต่อุปสงค์ในประเทศผ่านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ แม้เราเชื่อว่าการลงทุนภาคเอกชนจะพลิกเป็นบวกได้ดีขึ้นหลังการส่งออกฟื้นต่อเนื่องราว 2 ไตรมาส นั่นคือจะไปเห็นในช่วงปลายไตรมาส 3 ต้นไตรมาส 4 แต่ก็คงเป็นการฟื้นตัวต่ำๆ ขณะที่เศรษฐกิจน่าจะไปเน้นที่ภาคบริการมากกว่าการผลิต

     นอกจากนี้ แม้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดี แต่ต้องจับตาว่าจะยั่งยืนหรือไม่ เช่น การส่งออกที่โตได้ดีนั้นยังนับว่าต่ำแทบที่สุดในภูมิภาค ปัจจัยที่กระทบภาคการส่งออกนอกจากเงินบาทที่แข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขันแล้ว ผลิตภัณฑ์ส่งออกของไทยก็ยังคงเน้นไปทางสินค้าโภคภัณฑ์ที่ได้อนิสงค์จากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์และชิ้นส่วนยังคงอ่อนแอ มีเพียงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังมีทิศทางไม่ชัดเจนนี้ ได้กระทบต่อภาคการผลิตของไทย ดังเห็นได้จากการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงต่ำ ท้ายสุดความเชื่อมั่นจะฟื้นตัวได้เพียงไรก็คงขึ้นอยู่กับว่าจะมีความชัดเจนด้านความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลหลังเลือกตั้งหรือไม่ เอกชนไม่ใช่รอการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่กำลังจับตาว่าหากรัฐบาลสามารถให้ความชัดเจนได้ว่าภายหลังการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลชุดต่อไปจะหยิบยกและสานต่อสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไทยแลนด์ 4.0 หรือการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งความชัดเจนนี้ไม่ต้องรอจนถึงการเลือกตั้งก็ได้ สามารถทำได้ทันที และเชื่อว่าเอกชนจะเห็นโอกาสและลงทุนตามจนทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้แรงและทั่วถึงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

 

เวิลด์แบงก์ ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 60 โตได้ 3.5% และโตต่อเนื่องในปี 61 ที่ 3.6%

WBG เกยรตพงศ อรยปรชญา      ธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 60 จะเติบโตได้ 3.5% และคาดโตต่อเนื่องในปี 61 ที่ 3.6% โดยประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้เกิน 4% จากการแก้ไขข้อติดขัดเชิงโครงสร้างในเรื่องคุณภาพการศึกษา การเปิดเสรีภาคบริการ และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

       อย่างไรก็ดี ยังมีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมือง หากการปฎิรูปและการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกถดถอย เช่น มาตรการป้องกันทางการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยและการฟื้นตัวของการลงทุนในภาคเอกชน

     นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้เพิ่มเป็น 3.5% จากเดิมที่เคยประเมินไว้ 3.2% เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย ตลอดจนภาคส่งออกและการท่องเที่ยวที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดยจะเห็นได้จากในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่ผ่านมาที่การส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับประเทศในภูมิภาคที่เป็นผลมาจากทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว

     อย่างไรก็ดี ยังมองว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวช้า การลงทุนยังอยู่ในระดับต่ำที่ 18% ของจีดีพี เพราะยังมีอุปสรรคระยะยาว เช่น ความไม่แน่นอนในนโยบายด้านการลงทุนระยะยาวว่าจะมีความต่อเนื่องหรือไม่ นอกจากนี้ หากพิจารณาผลสำรวจจากภาคธุรกิจจะพบว่ามีอุปสรรคด้านแรงงาน ตลอดจนการขนส่ง สาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นต้น

     "การลงทุนภาคเอกชนมีโอกาสจะโตได้ถึง 20% ถ้าทำตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการลงทุนภาครัฐมีความชัดเจน เช่น โครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทางด่วน ก็จะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น เหล่านี้มักจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนค่อนข้างจะให้ความสำคัญว่าเราจะทำได้ตามแผนหรือไม่" นายเกียรติพงศ์กล่าว

      ในขณะที่การท่องเที่ยวยังมีโอกาสที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ แต่อาจจะมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และทักษะของบุคลากรในสายงานภาคท่องเที่ยวที่ต้องมีการพัฒนา เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระยะยาว

     สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 61 ธนาคารโลกยังเชื่อว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีนี้ โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 3.6% มีปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 61 คือ การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนจะเริ่มกลับมาดีขึ้น และปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเริ่มลดลง

     "เราปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ดีขึ้นจากเดิม 3.2% มาเป็น 3.5% ส่วนปีหน้ามองว่าประมาณ 3.6% ปรับขึ้นเพราะแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น หลักๆ มาจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ในขณะที่ในประเทศมีการฟื้นตัวจากภาคเกษตรเรื่องภัยแล้ง และมาตรการทางการคลังในการขยายการลงทุนภาครัฐ ที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้ดีขึ้น...ปี 61 เรารวมปัจจัยการเมืองไว้แล้ว นักลงทุนจะพูดถึงความต่อเนื่องของนโยบาย ไม่ได้มองเรื่องเลือกตั้ง ตรงนี้น่าสนใจ เพราะหากย้อนไป 2 ปีก่อนก็จะถามกันแต่เรื่องเลือกตั้ง แต่ช่วงนี้กลับถามว่านโยบายจะเดินหน้าต่อเนื่องหรือไม่"นายเกียรติพงศ์ กล่าว

    พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีศักยภาพพอที่จะเติบโตได้สูงกว่าปีละ 4% หากให้ความสำคัญกับการปฏิรูปนโยบายใน 3 ด้าน คือ 1.พัฒนาด้านการศึกษา 2.พัฒนาด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และ 3.การเปิดเสรีภาคบริการ รวมถึงการจัดทำแผนแม่บทด้านเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ

     นายเกียรติพงศ์ ประเมินว่า หากเศรษฐกิจไทยเติบโตอยู่ในระดับ 3.5% อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 20 ปี ที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูง แต่หากเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระดับ 5.5% ก็อาจช่วยร่นระยะเวลาในการเข้าสู่ประเทศรายได้สูงได้ในเวลาประมาณ 10 ปี

    นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมาก และได้เปิดตัวโครงการหลายโครงการ ตั้งแต่การขยายการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งตั้งเป้าว่าภายในปี 61 ประเทศไทยทั้ง 75,000 หมู่บ้านจะสามารถเข้าถึงโครงข่ายอินเตอร์เน็ตได้ รวมถึงการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics Center) ซึ่งโครงการเหล่านี้มีจุดหมายเพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อเครือข่าย และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ชุมชน ส่งเสริมการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ดียิ่งขึ้น

     "นี่คือตัวอย่างของโครงการรัฐบาล เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับไทยแลนด์ 4.0 ผ่านการเปลี่ยนผ่านยุคดิจิทัล ทั้งในเรื่องความปลอดภัย, โครงสร้างพื้นฐาน, ภาครัฐ, กำลังแรงงาน และท้ายสุด คือ แอพพลิเคชั่น" รมว.ดีอีระบุ

      ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และจัดทำแผนแม่บท 20 ปีด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ 1.การลงทุนและสร้างฐานราก 2.การให้ทุกภาคส่วนในประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วม 3.การก้าวสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ และ 4.การบรรลุเป้ามหายของการอยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำด้านดิจิทัล

       ด้านนายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มาเลเซีย และความร่วมมือในภูมิภาค กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการให้บริการที่มีคุณภาพระดับสูง และกำลังช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล และใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งความรวดเร็วในการจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลนั้นจะต้องขยายการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และให้คนไทยได้รับโอกาสและประโยชน์จากเศรษฐิจดิจิทัลอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับความต้องการด้านธุรกิจ และเพิ่มรายได้ให้ครอบครัว

       ทั้งนี้ ในรายงานติดตามเศรษฐกิจไทย ของธนาคารโลกสำนักงานประเทศไทย ได้แนะนำว่าประเทศไทยควรคำนึงถึงการพัฒนายุทธศาสตร์ดิจิทัลโดยใช้ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง เน้นเรื่องการเพิ่มความสำคัญของข้อมูลในฐานะที่เป็นทรัพย์สินทางเศรษฐกิจ และควรเพิ่มความยืดหยุ่นและความคล่องตัวในการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างบล็อกเชน เป็นต้น

       อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!