หมวดหมู่: ไอที-เทคโนฯ

1AAพ.ต.อ.วนย วงษบบผา


บก.ปอศ. เน้นย้ำการ'ป้องปราม'ควบคู่ 'ปราบปราม' การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

      เผยตัวเลขการดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ปี 2560 จำนวน 227 รายมูลค่าความเสียหายกว่า 430 ล้านบาท

     บก.ปอศ. เผยผลการดำเนินงานตรวจค้นและดำเนินคดีองค์กรธุรกิจละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ระหว่างเดือน มกราคม - พฤศจิกายน ปี 2560 จำนวน 227 ราย พบคอมพิวเตอร์ติดตั้งซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ จำนวนกว่า 3,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 430 ล้านบาท เน้นย้ำแนวทางประชาสัมพันธ์ความเสี่ยงของการละเมิดฯ ควบคู่การปราบปรามโดยการบังคับใช้กฎหมาย

       กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เปิดเผยถึงผลงานด้านการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าตรวจค้นและดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่มีการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์อย่างไม่ถูกต้อง  มีการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ตามหลักฐานที่ได้รับมา โดยส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี และระยอง

        บก.ปอศ. ได้ดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่กระทำผิด จำนวน 227 องค์กร มีการติดตั้งใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิบนคอมพิวเตอร์ จำนวนกว่า 3,000 เครื่อง ในกลุ่มนี้มีทั้งเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีรายได้ระดับร้อยล้านและพันล้านบาทต่อปี โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการออกแบบ ก่อสร้าง ตกแต่งภายใน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในกลุ่มนี้  อุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงธุรกิจบริการต่างๆ เช่น ผลิตสื่อโฆษณา ที่มีการใช้งานซอฟต์แวร์จำนวนมาก มูลค่าความเสียหายจากการละเมิดฯ ทั้งหมดกว่า 430 ล้านบาท

       พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รองผู้บังคับการ บก.ปอศ. เผยถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ว่า ไม่เพียงแต่การบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการป้องปรามการกระทำผิด โดยการประชาสัมพันธ์ให้องค์กรธุรกิจปรับเปลี่ยนมาใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้อง ผ่านทางสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งการสื่อสารผ่านสื่อมวลชน การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เพื่อรณรงค์ให้องค์กรธุรกิจใช้งานซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงภัยไซเบอร์ที่มักจะมาพร้อมกับการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ และที่สำคัญช่วยลดความเสี่ยงในการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

        ทั้งนี้ บก.ปอศ. จะใช้วิธีการป้องปรามควบคู่การปราบปรามอย่างจริงจัง มีการสื่อสารข่าวประชาสัมพันธ์ ตลอดจนกิจกรรมประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี  เพื่อลดจำนวนการกระทำผิด ลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ ร้อยละ 69

        ในยุคของการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ซอฟต์แวร์ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับทุกธุรกิจ ไม่เพียงแต่ซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเท่านั้น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยจำนวนมาก ต่างก็คิดค้นซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานด้านต่างๆ ออกมา ดังนั้น เพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ และการมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ การใช้งานซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ควรมาพร้อมกับความรับผิดชอบ เคารพ และไม่ล่วงละเมิดในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น เพราะการละเมิดนั้นเป็นการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!