หมวดหมู่: พาณิชย์

MOCสกนธ วรญญวฒนา


ก.พาณิชย์ เผยสมาชิกอาเซียนเร่งผลักดันการเจรจา RCEP ใน 16 ประเทศ โดยเฉพาะจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เน้นการขับเคลื่อนนโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ

     นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้เป็นหัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับ RCEP ในวันที่ 11 มกราคม 2561 ที่สิงคโปร์ โดยที่ประชุมจะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความก้าวหน้าของการเจรจา RCEP และประเด็นข้อเสนอใหม่ของอาเซียน รวมทั้งแนวทางขับเคลื่อนให้การเจรจาสามารถบรรลุผลตามเป้าหมายที่ผู้นำตั้งไว้ ซึ่งระหว่างวันที่ 5-6 มกราคม ที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอาเซียนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยได้ปรับปรุงข้อเสนอใหม่เพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนในครั้งนี้ สำหรับใช้เป็นข้อเสนอเชิงรุกของอาเซียนที่จะเร่งผลักดันให้ประเทศคู่เจรจาเพิ่มความยืดหยุ่นและผ่อนปรนท่าทีให้เข้าหากันได้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ทุกประเทศสามารถแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งเป็นการแสดงถึงบทบาทนำของอาเซียนที่เพิ่มความพยายามขับเคลื่อนให้การเจรจาเป็นผลสำเร็จในปี 2561 ตามเป้าหมายของผู้นำ

      โดยประเทศสมาชิก RCEP โดยเฉพาะจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ (Strategic Partnership) อย่างเข้มข้นมากขึ้นในทุกมิติ เพื่อขยายการส่งออกในระยะยาว นอกจากนี้ RCEP ซึ่งมีสมาชิก 16 ประเทศ ยังเป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุม 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก มีประชากรรวมกันกว่า 3.5 ล้านคน  อีกทั้ง ในปี 2559 ไทยมีการค้าขายกับประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 2.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 59 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย จึงเป็นตลาดที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญอย่างมาก

     นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา RCEP ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เปิดเผยว่า การเจรจาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกยังมีท่าทีแตกต่างกันทั้งในเรื่องด้านการเปิดตลาดและด้านกฎเกณฑ์ เนื่องจากมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความคาดหวังและความอ่อนไหวที่แตกต่างกัน จึงทำให้แผนการเจรจาคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดี ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับ RCEP ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก และตกลงที่จะเพิ่มความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้การเจรจาบรรลุข้อตกลงได้มากที่สุด ภายในปี 2561

      สำหรับ ไทยได้พยายามผลักดันให้ประเทศสมาชิก RCEP โดยเฉพาะจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าสำคัญที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ประมงแปรรูป (ปลาทูน่า กุ้ง ปลาหมึก) มันสำปะหลังอัดเม็ด น้ำตาลจากอ้อย ข้าว ปิโตรเคมี ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งไทยมีการส่งสินค้าไปยัง 3 ประเทศนี้ คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวมกันกว่า 2.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 24.1 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปยังภูมิภาค RCEP หรือร้อยละ 13.4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย

        สมาชิก RCEP 16 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนา ไปจนถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่ไทยเรียกร้องให้พิจารณาเปิดตลาดให้ดีกว่าที่เคยให้ภายใต้ความตกลงอาเซียน+1 โดย 3 ประเทศนี้มีความสำคัญต่อการเจรจา เนื่องจากเมื่อรวมกันแล้วเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่และจำนวนประชากรกว่า 2.8 พันล้านคน ประชากรรวมประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก คิดเป็นร้อยละ 79.8 ของจำนวนประชากรของภูมิภาค RCEP ที่จะเป็นตลาดของสินค้าไทย โดยในปี 2559 และทั้ง 3 ประเทศมี GDP รวมกันกว่า 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 77.3 ของ GDP ของภูมิภาค RCEP มีการนำเข้าจากโลก 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 60.6 ของการนำเข้าของภูมิภาค RCEP ในส่วนของการส่งออกมีการส่งออกไปยังโลก 3.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 62.2 ของการส่งออกของภูมิภาค RCEP

       ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม – พฤศจิกายน 2560) ไทยส่งออกไปภูมิภาค RCEP มีมูลค่า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.44 และมูลค่านำเข้า 1.23 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.54

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ก.พาณิชย์ ไทย-จีน หารือเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจตั้งเป้าเป้าหมายการค้าทั้ง 2 ประเทศแตะ 120 พันล้านเหรียญ ในปี63

        กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเตรียมการสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน) ครั้งที่ 6 โดยมีนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนางเกา เยี่ยน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานร่วม เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 ณ โรงแรมแชงกรี-ล่า กรุงเทพมหานคร

 นางสาวชุติมา เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นต่างๆ เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 (ระดับรองนายกรัฐมนตรี) ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพในปี 2561    ซึ่งเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนในทุกด้าน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงนโยบาย Belt and Road Initiative ของจีน กับนโยบาย Thailand 4.0 ของไทย และการเชื่อมโยงโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกับโครงการพัฒนาสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง และ Greater Bay Area (GBA)  นอกจากนั้น ไทยยังยินดีเป็นตัวกลางและแสดงบทบาทนำในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจจีนกับ CLMV โดยไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในการดำเนินความร่วมมือต่างๆ ตามระเบียงเศรษฐกิจ จีน-อินโดจีนภายใต้ข้อริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ของจีน อาทิ การเชื่อมโยงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การขนส่ง โลจิสติกส์ การยกระดับห่วงโซ่มูลค่าในภาคการผลิต เป็นต้น นอกจากนั้น ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับการเยือนไทยของนายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐจีน ประกอบด้วย การประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 การเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีไทย การเยี่ยมชมโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของจีน การสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจ และการจับคู่ทางธุรกิจ

 นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นการแก้ไขปัญหาทางการค้าสินค้าเกษตร อาทิ การเร่งรัดการนำเข้าข้าวและยางพาราภายใต้ MOU ที่ได้ตกลงกันไว้ การเร่งรัดให้สำนักงานควบคุมคุณภาพตรวจสอบและกักกันโรคของจีน (AQSIQ) เร่งมาตรวจสอบกระบวนการผลิตรังนกแดงและโรงงานผลิตและแปรรูปข้าวไทยโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ผลิตและแปรรูปรังนกและข้าวไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสามารถส่งออกสินค้าไปขายในจีนได้ ไทยเสนอให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากยางพาราจากการยางแห่งประเทศไทยโดยตรง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการร่วมลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราในประเทศไทย ระหว่างนักลงทุนจีนกับการยางแห่งประเทศไทยด้วย พร้อมหารือเกี่ยวกับช่องทางการส่งออกลำไยไทยไปยังตลาดจีน นอกจากนั้น ยังได้เร่งรัดให้จีนดำเนินการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าไทย 3 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง และมะขามหวานเพชรบูรณ์ อีกด้วย

 ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 15 และแหล่งนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2559 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 65.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2560 (ม.ค.-พ.ย.) การค้ารวมระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 67 พันล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ และผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น ไทยและจีนได้ตั้งเป้าหมายการค้าสองฝ่ายให้มีการขยายตัวเป็นสองเท่า หรือ 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563 นอกจากนี้ จีนยังเป็นนักลงทุนทางตรงอันดับที่ 3 ของไทย ในปี 2560 (มกราคม-กันยายน) นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยมีมูลค่า 385 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการท่องเที่ยวมีชาวจีนเดินทางมาประเทศไทย 9.8 ล้านคน ในปีที่ผ่านมา

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!